วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียสนทนา



สุนทรียสนทนา
โดย
อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู
ศิลปะแห่งการสนทนา
การสนทนาที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
ที่นำการสนทนามาเทียบเคียงกับการเรียนรู้ ก็เพราะมองว่าการเรียนรู้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่ง เมื่อชีวิตคือองค์กรที่จัดองค์กรตัวเองอย่างเป็นเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้
ถ้าเราเป็นคนละเอียดอ่อน และเมื่อมีโอกาสอยู่ในวงสนทนา ลองถอยตัวเองออกจากฐานะของผู้เข้าร่วม มาเป็นผู้สังเกตการณ์ เมื่อสังเกตดูการสนทนาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ของคนทั่วไปในสังคมปัจจุบันนี้ และลองประมวลข้อสรุปออกมาสิว่า มันจะบอกอะไรกับเราบ้าง?
ผมเองได้ลองสังเกตดูและได้ทำบันทึกไว้ดังนี้ หนึ่ง ในวงสนทนาจริงๆ แล้วไม่ค่อยมีใครฟังใคร ยิ่งถ้ากินเหล้าคุยกันด้วยแล้ว จะเกิดอาการต่างคนต่างพูดเลยด้วยซ้ำ และในกรณีที่ยังฟังกันบ้าง การฟังก็เพื่อจะเก็บวลีหรือถ้อยคำที่เข้าทาง หรือสอดคล้องกับความคิดและมุมมองของตน และก็จะสอดแทรกเข้ามาพล่ามในเรื่องที่ตนเองอยากจะพูดเลยทีเดียว อันนี้ก็เป็นเหตุผลนะครับว่า ทำไม่งานสังคมจึงเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย ไม่มีใครเรียนรู้อะไรจากใคร ไม่มีความอิ่มเอมใจอันเกิดจากการสนทนาที่แท้จริง อย่างดีที่สุดก็ทำได้แค่อวดมั่งมีและอวดเก่งเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านี้
โบห์มเองก็เคยพูดเรื่อง Dialogue ระดับโลกที่องค์กรระดับโลก เช่นสหประชาชาติชอบใช้ โบห์มตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ Dialogue ในความหมายของโบห์ม หากเป็นการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยที่หลักการ มุมมอง โลกทัศน์ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เลย ปัญหาจึงมิอาจแก้ไขได้ เพราะตัวปัญหาหลักคือมุมมองและโลกทัศน์ที่แข็งตัวยังดำรงอยู่อย่างถาวรโดยไม่แปรเปลี่ยน
เพราะฉะนั้น การสนทนาเพื่อขายความคิดให้คนอื่นมาคล้อยตามความคิดของตน จึงไม่ใช่การสนทนาแบบโบห์ม การสนทนาแบบโบห์มผู้เข้าร่วมต้องเปิดใจ พร้อมจะเปลี่ยนมุมมองและสมมุติฐานอย่างกล้าหาญและหฤหรรษ์
การฟังอย่างมีคุณภาพ
การปล่อยให้เสียงและความเป็นตัวตนทั้งหมดของผู้อื่นเข้ามาในตนนั้นก็คือช่วงหลับและตื่นขึ้นเพื่อจะรวบรวมประมวล สร้างความหมายให้กับสิ่งที่ฟังเป็นช่วงตื่น ในการฟังจะมีช่วงหลับ-ตื่น นี้สลับกันไปอย่างมีศิลปะ
แต่ในการฟังบ่อยครั้งเราจะหลุดลอยไปในโลกของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งอารมณ์หรือความคิดก็ตาม บางทีเครื่องแต่งกายของคู่สนทนาสักชิ้นอาจจะทำให้เราระลึกถึงความทรงจำบางอย่าง
2
และเราก็ลอยละล่องไปกับความทรงจำนั้น บางทีถ้อยคำบางคำ ทำให้เราเพลิดไปกับความคิดของเราเองอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว
เราจะหลุดออกมาจากโลกของเราเองได้อย่างไร เพื่อยินยอมและซึมซับโลกของผู้อื่นเข้ามา ทั้งเนื้อหาและรูปลักษณ์ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความสั่นไหวภายในทั้งมวลของผู้พูด
ด้วยเหตุนี้ การฟังจึงเป็นทั้งศิลปะพื้นฐานและเป็นศิลปะชั้นสูง ที่เราอาจจะต้องฝึกฝนไปตลอดชีวิตเมื่อเทียบเคียงกับการปฏิบัติในศาสนาพุทธแล้ว เราจะต้องฝึกสมาธิเพื่อผ่อนคลายความว้าวุ่นของอารมณ์ต่างๆ ในใจเราให้สงบลง และถ้าฝึกได้ดีจะถึงจุดที่ “ว่าง” จากอารมณ์รบกวนทั้งหลาย และเวทีสนทนา เราต้องฝึกปัญญาคือวิปัสสนาที่เราจะว่างจากความคิดของเราเอง เพื่อรับความคิดของผู้อื่นเข้ามา
ความคิดนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ขาดเป็นห้วงๆ อย่างที่เป็นอิฐก่อสร้างหรือเป็นตัวต่อที่ใช้สำหรับสร้างอะไรต่างๆ ที่เด็กเล่นกัน ซึ่งจะเองไปต่อตรงไหนก็ได้ แต่ความคิดเป็นโครงข่ายที่มีแม่บทหรือกระบวนทัศน์กำกับอยู่ ในกระบวนทัศน์หนึ่งๆ ก็จะมีสมมุติฐานเป็นตัวรองรับอยู่ ก็ในเมื่อเรายังไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมนั้น (ถ้าการรู้แจ้งนี้มีจริง) ความคิด ความรู้ ความเข้าใจของเราทั้งหมด ก็ยังตั้งอยู่บนสมมุติฐานต่างๆ หรือ ชุดของสมมุติฐาน แต่โดยอัตโนมัติ เรามักจะไปยึดถือเอาว่าสมมุติฐานของเราเป็นสัจจะความจริง ถือเอาว่า ชุดของสมมุติฐาน ของเราเป็นสามัญสำนึก ที่คิดว่าทุกคนจะต้องรู้ และคิดว่าพยกมันเป็นฐานของสัจธรรมทั้งมวล นี่แหละคืออุปสรรคสำคัญของการฟัง ที่ทำให้เรามืดบอดต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือ ชุดแห่งสมมุติฐานของเรา
ฟังเพื่อเท่าทันตัวเอง?
มิติของการฟังอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการฟังการฟังของตัวเอง คือฟังซ้อนฟัง ฟังดูว่าตนเองนั้นฟังอย่างไร? มีคุณภาพไหม เรื่องนี้จะไปเชื่อมโยงกับหลักการอีกสองข้อของการสนทนาคือการเคารพในผู้อื่นและการไม่ตัดสิน เราสามารถเปิดมิติแห่งการตรวจสอบตัวเองไปในตัวการฟังนั้นเลยว่า เราเคารพผู้อื่นคือผู้พูดหรือไม่? เราสามารถฟังโดยไม่ตัดสินคนหรือไม่ตัดสินความได้หรือไม่ หากเพียงรับรู้ในความแตกต่างของสมมุติฐานและที่มาของความคิดนั้นๆ
เสียงที่เปล่งออกมาหรือวาจานั้น มันมาจากฐานใจและฐานแห่งอารมณ์ความรู้สึกด้วย แม้มันจะนำพาความคิดมาด้วยก็ตาม โดยที่ทุกความคิดนั้นจะมีอารมณ์ความรู้สึกกำกับมาด้วยเสมออย่างใดอย่างหนึ่ง โจ่งแจ้งหรือซ่อนแร้นแล้วแต่คนแล้วแต่กรณี เมื่อมันมากระทบเรา การฟังที่ดีคือการปล่อยให้มันเข้ามาดำรงอยู่ชั่วขณะนั้นในตัวเรา ดังเช่นการดื่นไวน์ ต้องอมไว้เล็กน้อยเพื่อซาบซ่านในรสไวน์อย่างไรอย่างนั้น และเฝ้าดูว่า เรามีปฏิกิริยากับเสียงของคนอื่นหรือไม่อย่างไร? รุนแรงหรือหนักเบาอย่างไร? และเมื่อ
3
รู้เท่าทันแล้ว ต่อๆ ไปก็ค่อยๆ ฝึกที่จะฟังอย่างปราศจากปฏิกริยา ฟังอย่างที่ให้คนๆ นั้นเข้ามาดำรงอยู่ภายในตัวเรา นั้นคือสุดยอดแห่งการฟัง
ผมได้ยินมาด้วยว่า ให้ฟังอย่างที่ถ้อยคำของคนอื่น เข้ามาปรับเปลี่ยนความเป็นไปภายในของตัวเรา ก็ถ้อยคำ เรื่องเล่า อุปไมยอุปมา มีส่วนในการสร้างโลกภายในที่เราใช้ในการมองโลกภายนอก ถ้อยคำ เรื่องเล่า อุปไมยอุปมา ที่ฟังมาอย่างดี อย่างเต็มเปี่ยม ก็อาจสามารถเปลี่ยนโลกภายในของเรา ซึ่งมีมนต์อำนาจในการเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับการมองโลกภายนอกด้วย ในการเรียนรู้นั้น เราต้องเปลือยตัวตนของเราออก ในความเป็นไปได้แห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงจะมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง นั้นเอง
การฟังอย่างเป็นกระจกเงา แก้ปัญหาเมื่อสัมพันธ์กับคนที่มีอารมณ์ลบ
เป็นความอิ่มเอมใจอย่างหนึ่ง เมื่อได้รับทราบว่าการฝึกอบรมก่อให้เกิดผล เนื่องด้วยในโครงการ “หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่” ซึ่งรักษาโรคหัวใจอย่างเป็นองค์รวมนั้น เราได้ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการความเครียดมาเป็นอันดับหนึ่ง นำเอาการฝึกสติในชีวิตประจำวันเข้ามาเพิ่มคุณภาพให้ผู้เข้าร่วมได้บ่มเพาะอารมณ์บวก ดุจดังคนสวนที่รดน้ำพรวนดินอารมณ์บวกทั้งหลาย เช่น ความรัก ความแจ่มใส ความมีพลังชีวิต เป็นต้น และให้พยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ลบ เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด และอื่นๆ
การอบรมเช่นนี้ คนไข้โรคหัวใจซึ่งเป็นคนแบบเอ (โกรธง่าย ก้าวร้าว จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ มองเห็นคนอื่นเป็นต้นเหตุของปัญหา โดยมักจะมองไม่เห็นข้อจำกัดของตนเอง) หลายต่อหลายคนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ ๑๘๐ องศา คือกลับลำบุคลิกภาพเลยทีเดียว พวกเขากลับไปขออภัยเพื่อนและญาติมิตรที่เคยระเบิดอารมณ์ใส่โดยปราศจากเหตุผลที่ดีพอ และสามารถหยุดปฏิกิริยาแบบฉับพลันที่มีต่อคนอื่นๆ ในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาจจะใช้วิธีเก็บความรู้สึกเอาไว้ หรือเดินเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์อันล่อแหลม ทำให้สามารถลดการแสดงอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดในทันทีทันใดได้มากขึ้น บางคนไปไกลกว่านั้นโดยสามารถหยุดโกรธก่อนโกรธและเอาความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจเข้ามาแทนที่ หลายคนเริ่มมองความคับแคบและข้อผิดพลาดของตนเอง ท่านหนึ่งที่ทะเลาะกับภรรยาจนเกือบจะเลิกกันแล้ว กลับมาเห็นความงามของภรรยา และเนื่องจากสุขภาพฟื้นฟูดีขึ้น ความสัมพันธ์แบบรักใคร่ก็กลับคืนมาดังเดิม สรุปแล้วคนไข้หลายคนฟื้นคืนสุขภาพ ความเป็นปกติ ความแจ่มใสปลอดโปร่ง ทั้งกายและใจกลับคืนมา
เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ผมได้รับเชิญไปฝึกอบรมเรื่องศิลปะการจัดการเรียนการสอนให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการนำเสนอเรื่องการใช้ปัญญาอารมณ์ในศิลปะการสอนนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งยกประเด็นขึ้นมาว่า เราอาจจะจัดการกับอารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิดของตนเองได้ แต่
4
ถ้าเราไปพบความโกรธ ความหงุดหงิดของคนอื่นขึ้นมาล่ะ เราจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่สามารถเดินหนีออกไปได้ แต่จะต้องเผชิญหน้ากันเพื่อจัดการงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ทีมฝึกอบรมที่มาจากสถาบันขวัญเมืองและเสมสิกขาลัย ได้เสนอแนวทางแห่งการฟังอย่างเป็นกระจกเงาเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น แทนที่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างก้าวร้าว การฟังอย่างเป็นกระจกเงาก็คือการฟังแต่ละช่วงของการพูดอย่างระเบิดอารมณ์ (หรือไม่ระเบิดอารมณ์) ของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วพูดกลับไปว่า เราได้ยินเขาพูดอย่างไร ในความเข้าใจของเรา โดยให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถแก้ไขได้ว่าเราสรุปความถูกต้องหรือเปล่า เช่น
• อีกฝ่ายหนึ่ง “คุณย้ายโต๊ะนี้ได้อย่างไร โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า”
• เราก็ตอบสนองกลับไปว่า “ผมได้ยินว่า ผมย้ายโต๊ะนี้ได้อย่างไร โดยไม่บอกคุณล่วงหน้า” ฯลฯ ไปตลอดการสนทนา

วิธีนี้ได้ผลเกือบจะทุกกรณี ทั้งนี้เพราะ ประการแรก อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าคุณได้ฟังเขาหรือเธอเป็นอย่างดี โดยรับรู้ทุกถ้อยกระทงความ และก็เมื่อถึงเวลาที่คุณจะพูด เขาหรือเธอก็มีแนวโน้มที่จะรับฟังคุณเป็นอย่างดีเช่นกัน
ประการที่สอง ผู้พูดมีโอกาสได้รับฟังสิ่งที่ตนพูดโดยขบวนการฟังอย่างเป็นกระจกเงานั้น ทำให้เขาหรือเธอมีโอกาสตั้งสติ และรับรู้ว่าตนเองกำลังพูดอะไร ขบวนการเช่นนี้จะมีผลต่อการลดความรุนแรงของอารมณ์ของอีกฝ่ายลงได้มาก
ประการที่สาม ฝ่ายผู้ฟังก็จะได้ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังอย่างรวบรัด และฟังอย่างด่วนสรุปใจความอย่างที่ลากความเข้าข้างตนเอง ที่ยิ่งจะทำให้ปัญหาการสื่อสารย่ำแย่ลงไปอีก
ประการที่สี่ เมื่อการฟังอย่างนี้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มตั้งสติได้นั้น คุณภาพการฟังจะยิ่งลุ่มลึกและละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ทำให้มองก้าวไปถึงบริบทหรือสภาพแวดล้อมความเป็นไปของอีกฝ่ายหนึ่ง ข้อจำกัดหรือสถานการณ์อันบีบคั้นของอีกฝ่ายหนึ่ง จะปรากฏขึ้นในการรับรู้ นอกจากนี้หากฝึกฝนตนเองอย่างแยบคายขึ้นเสมอๆ ก็จะปรับคลื่นอันละเอียดอ่อนกว่าคำพูดและภาษาท่าทางนั้นๆ นี้จึงนับเป็นสุดยอดของการฟัง คืออาจจะทำให้ล่วงรู้ถึงความปรารถนาและความคับข้องใจของอีกฝ่ายหนึ่ง
ในโลกที่เราให้คุณค่ากับหน้าตาและภาพลักษณ์ภาพนอกมากกว่าคุณค่าภายในนั้น เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ผิวๆ ของความเป็นจริง เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ความหมายของถ้อยคำแบบแบนๆ ตื้นๆ โดยรวบเข้าไปในความจำได้หมายรู้ในอดีตของเรา อันเป็นความทรงจำที่ตายซากขาดชีวิตชีวา เป็นอาการลงร่อง เป็นเครื่องจักรอันปราศจากวิญญาณและเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ความหมายใหม่ๆ แง่มุมใหม่ของถ้อยคำ ยังไม่รวมถึงการก่อประกอบถ้อยคำอย่างมีวรรณศิลป์ อันอาจก่อเกิดจินตนาการที่ทะลุทะลวง
5
กำแพงที่ขวางกั้นความเข้าใจทั้งหลาย โดยยังไม่ได้พูดถึงคลื่นหัวใจที่อาจเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายๆ ในชั่วขณะที่ใจเปิดให้กันและกัน เราทราบถึงความปรารถนาและความคับข้องใจที่เป็นกุญแจไปสู่ความเข้าใจส่วนในสุด
การเป็นอย่างเป็นกระจกเงานี้ ไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะกรณีคนห่างตัวเท่านั้น แม้แต่ในความสัมพันธ์ของคู่รักและเพื่อนสนิทที่มีปัญหาความขัดแย้งหรือความร้าวฉาน ตลอดจนแม้ในกรณีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เริ่มจะห่างเหินด้วยเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ให้กระชับมั่นยิ่งขึ้น การฟังอย่างเป็นกระจกเงานี้ก็จะช่วยได้มาก...
สุนทรียสนทนา
เคารพ (Respecting)
จากสุนทรียสนทนาคืนวันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗ อันเป็นวงสุนทรียสนทนาครั้งที่สี่ของชุมชนเชียงราย ผมก็กลับไปอ่าน Dialogue and the Art of Thinking Together โดยวิลเลียม ไอแซคส์ (William Isaacs) ในบทที่ว่าด้วยการให้ความเคารพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสี่ประการที่ไอแซคส์พูดถึงในการสนทนาคือ Listening, Respect, Suspending, และ Voicing ซึ่งผมจะพยายามนำมาเสนอให้พวกเราได้อ่านกัน โดยสำนวนของผมเอง แต่วันนี้จะพุ่งเป้าไปเรื่องความเคารพที่ประสบในวงสนทนาวันเสาร์ที่ผ่านมาและที่ไอแซคส์ได้เขียนเสนอไว้
หมออิทธิพงษ์ ศัลยแพทย์ รพ.เชียงราย ได้เล่าในวงสนทนาว่า วันนั้น หมอพยายามฟังอีกแบบโดยไม่มองหน้าคน หากพยายามฟังเสียงอย่างตั้งใจ และไม่ได้ฟังเพียงถ้อยคำ แต่รับรู้ทั้งหมดของเสียง ให้
6
เสียงนั้นเข้ามาอยู่ภายในตัวตน ทำให้พึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้ รู้สึกว่าการฟังของตนเองลุ่มลึกยิ่งขึ้น ไอแซคส์ พูดถึงเรื่องการเคารพ คือการฟังทั้งหมดอย่างไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะที่ชอบหรือไม่ชอบ หากฟังโดยมีปฏิกิริยาให้น้อยที่สุด เขาเล่าเรื่องกรรมกรคนหนึ่งในวงสนทนา ที่บอกว่าเขาฟังอย่างกับเอากรวยมากรอกหูเขา รับมาทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วสามวันต่อมา เรื่องต่างๆ ที่ฟังมาก็ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราวที่ทำให้เกิดการคลิกและคลี่บานขึ้นในใจ
คุณเมธาวี พูดเรื่องการฟังที่เหมือนกับเข้าไปนั่งในป่าใหญ่ เห็นใบไม่ร่วงหล่น เห็นสัตว์กินกันไม่ได้พุ่งความรู้สึกเข้าไป อย่างเป็นผู้กินหรือผู้ถูกกิน เฝ้าดูอยู่ เหมือนกับมีอีกตัวตนหนึ่งถอยออกมาดูอยู่อย่างมีระยะ ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่มีความสงบระดับหนึ่ง ไม่มีอารมณ์แบบเอาตัวเข้าไปร่วมเหมือนเมื่อก่อน
หลักการสำคัญของไอแซคส์ที่กล่าวในตอนต้นนั้นก็คือ การพยายามมองสิ่งต่างๆ ว่ามีการถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด หลักการแห่งการฟังทั้งหมด โดยไม่แยกแยะกลั่นกรองเสียก่อน ก็มาจากทัศนะหรือมุมมองเช่นนี้ ในถ้อยคำของไอแซคส์เอง เขากล่าวว่า
“การเคารพ ในแง่หนึ่งก็คือการมองหาสิ่งสูงส่งที่สุด ดีที่สุด ในตัวบุคคลคนหนึ่ง ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างกับว่าเป็นความลี้ลับที่เราไม่มีวันเข้าใจได้โดยตลอด พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา”
และในความเป็นศิษย์สำนัก เดวิด โบห์ม (David Bohm) เขาก็ร่ายยาวต่อไปว่าโลกทัศน์แบบนิวตัน ที่มีอุปไมยอุปมาว่าโลกและสิ่งต่างๆ รวมถึงมนุษย์ด้วยเป็นเครื่องจักรอย่างไร เป็นชิ้นส่วนที่แยกออกจากกับอยางไร และในโลกทัศน์แบบฟิสิกส์ใหม่ โลก จักรวาล มนุษย์ ถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกันอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก และทัศนะใหม่นี้เอง ทำให้นักทฤษฎีฟิสิกส์แบบโบห์ม ได้คิดค้นการสนทนาในรูปแบบหนึ่ง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ไอแซคส์เล่าเรื่อง ปีเตอร์ การ์เร็ต (Peter Garrett) ซึ่งร่วมพัฒนาการสนทนาร่วมกับ เดวิด โบห์ม เพื่อนำไปใช้ในประเทศอังกฤษ ในอังกฤษนั้น การ์เร็ตทำงานกับคนคุกที่ต้องโทษเพราะเป็นอาชญากรที่เข่นฆ่าผู้คนและข่มขืนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เมื่อไอแซคส์ถามเขาว่า เขาได้เรียนรู้อะไรในงานของเขา เขาตอบว่า “การสืบค้นกับความรุนแรงไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้”
ผมได้พบเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้จากหนังสือ Destructive Emotions อันเป็นเรื่องราวที่องค์ดะไลลามะสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกและค้นพบร่วมกันไปกับหนังสือเล่มนั้นว่า สมองส่วนหน้าซีกซ้าย ซึ่งทำงานเมื่อเราอยู่ในวิถีแห่งการสืบค้น เปิดใจอยากรู้อยากเห็นนั้น อมิกดาลา (Amygdala) หรือส่วนหนึ่งในสมองส่วนกลาง อันเป็นที่ตั้งของอารมณ์ลบ ก็จะหยุดทำงาน หรือทำงานน้อยลง อมิกดาลานี้เป็นกลไกที่เมื่อเกิดอารมณ์ลบแล้ว เราก็จะถูกจำขังอยู่ในร่องอารมณ์ ที่เราจะไม่เป็น
7
อิสระหากถูกบงการด้วยอารมณ์ ในกรณีของความโกรธ มันก็คือการใช้ความรุนแรงนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การคิดใคร่ครวญจึงเป็นยาวิเศษ ที่จะเยียวยาแก้ไขความรุนแรงในตัวคน เมื่อเราหาวิธีปลูกฝังอุปนิสัยการคิดใคร่ครวญในเรื่องราวต่างๆ ได้ในตัวคน คนๆ นั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นคนรุนแรงน้อยลง
เมื่อมองเช่นนี้แล้ว การสืบค้นอาจจะเป็นด้านหนึ่งของวิปัสสนากรรมฐานหรือไม่? หรือโยนิโสมนสิการ ที่เจ้าคุณประยุทธพูดถึง เมื่อสืบค้น เราจะไม่มีที่ทางให้เหลือสำหรับความรุนแรง หรือแม้กระทั่งอารมณ์ลบๆ ทั้งหลาย
อีกด้านหนึ่งของความเคารพ ก็คือเรื่องของความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของผู้คน มันก็แปลกที่ว่าเมื่อเรารู้สึกอย่างไรกับคนๆ หนึ่ง และถ้าเราเป็นหลายคน ก็จะมีพลังหล่อหลอมคนๆ นั้นให้เป็นไป
อีกด้านหนึ่งของความเคารพ ก็คือเรื่องของความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของผู้คน มันก็แปลกที่ว่าเมื่อเรารู้สึกอย่างไรกับคนๆ หนึ่ง และถ้าเราเป็นหลายคน ก็จะมีพลังหล่อหลอมคนๆ นั้นให้เป็นไป
อย่างแถวๆ อำเภอใกล้ตัวเมืองเชียงรายแห่งหนึ่ง เยาวชนถูกมองว่าไม่ได้เรื่อง ล้มเหลวในชีวิต และเป็นพวกก่อปัญหา แล้วพวกเขาก็กลายเป็นเช่นนั้นจริงๆ ต่อมาเมื่อมีการพูดคุยแบบหันหน้าเข้าหากันที่คณะทำงานของหมอไพฑูรย์ลองไปจัดในหมู่บ้าน ได้เกิดความเข้าใจใหม่ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มีความเคารพกันมากขึ้น เห็นคุณค่าในกันและกันมากขึ้น ความรุนแรงในเยาวชนก็เบาบางลง ว่ากันว่าเด็กในชุมชนนี้มีหัวหน้าแก๊งซามูไรอยู่ด้วยซ้ำไป และหัวหน้าแก๊งคนนั้นก็กลับตัวกลับใจ เพราะเริ่มเห็นคุณค่าในตนเอง
ถ้าเราเลี้ยงลูก ก็จะอยู่ที่ศรัทธาของเราที่มีต่อเขา บางคนอาจจะถามว่าเพียงเท่านี้หรือ ใช่ครับ เพียงเท่านี้เอง แต่เพียงเท่านี้ มันกลับทำได้ยากที่สุด เพราะใจของเรามักหล่นลงไปในร่องอารมณ์ ไปสู่ความกลัวความวิตกกังวลและความคลางแคลงใจ และเราก็ไม่สามารถศรัทธาในลูกของเรา สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปัญหา
อีกเรื่องเล่าหนึ่ง ที่อาจเปลี่ยนตัวตนและมิติการมองโลกของเราได้ เป็นเรื่องที่ วิลเลียม ไอแซคส์ เอามาเล่าไว้ดังนี้
เป็นเรื่องวัดคริสต์หรือยิวก็ไม่ทราบ มีนักบวชอยู่ห้าหกคน อยู่ๆ มาชาวบ้านเริ่มไม่นิยมวัดแห่งนี้ ก็พากันห่างเหิน ไม่มาเข้าวัด ไม่มาสนับสนุนเหมือนเมื่อครั้งก่อน พวกเขาก็เริ่มวิตกกังวล ต่อมามีพระอาจารย์คล้ายกับฝ่ายปฏิบัติภาวนามาพำนัก ณ กุฏิปลายวัด ซึ่งท่านจะมาเป็นครั้งคราว อาจจะสองสามปี
8
ต่อครั้ง ท่านก็สังเกตเป็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อท่านจะลาจาก ท่านก็บอกแก่พวกนักบวชว่า ในหมู่พวกคุณนี้ มีนักบุญอยู่คนหนึ่งนะ เท่านั้นเองจริงๆ
หลังจากนั้น พวกเขาก็ปฏิบัติต่อกันอย่างดีเยี่ยม และก็รู้สึกดีกับตัวเองมากๆ ด้วย เพราะคนใดคนหนึ่งนั้น อาจจะเป็นตัวเองก็ได้ ในบรรยากาศที่ปฏิบัติต่อกันเช่นนั้นเอง บรรยากาศของวัดก็เปลี่ยนไป ความเป็นไปต่างๆ ของวัดก็เปลี่ยนไป จนชาวบ้านสังเกตและสัมผัสได้ เป็นความรู้สึกดีๆ บางอย่าง แล้วชาวบ้านก็เริ่มกลับเข้าวัด และสนับสนุนวัดเหมือนเดิม
ห้อยแขวน
เรื่องนี้เป็นหลักการที่สามของ Dialogue ห้อยแขวนหมายถึงห้อยแขวนทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะห้อยแขวนการตัดสินคน ตัดสินความ เมื่อได้ฟังคนอื่นพูด ตลอดจนเวลาที่ดำรงตนอยู่ในการสนทนาทั้งหมด เปิดเนื้อที่ให้กับความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของความเหลื่อมซ้อนแห่งมุมมอง การมองข้ามพ้นมุมมองอันจำกัดอย่างเป็นอัตโนมัติที่ตนถือครองอยู่ การข้ามพ้นคู่ขัดแย้งที่เป็นขั้วทั้งหลาย เป็นอิสระจากการมองเป็นคู่ขัดแย้งทั้งปวง เปิดมุมมองใหม่ที่อาจรวบความเข้มแข็งในคู่ขัดแย้งเข้ามาไว้ในมุมมองเดียวกัน ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น
มันเป็นเรื่องราวของการตื่นขึ้นของตัวรู้ด้วย การตื่นขึ้นของสติ ที่ระลึกได้ว่า มีหนทางที่ดีกว่าการกระโดดเข้าไปในการตัดสินคน ตัดสินความอย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะนั่นคือการถือครองหรือถูกครอง (กันแน่) โดยทัศนคติแบบเดิม มุมมองแบบเดิม ที่เป็นไปอย่างอัตโนมัติและไม่มีตัวเลือก ไปสู่การเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นไปได้ ด้วยการระลึกขึ้นมาว่า “เรามีตัวเลือก เรามีทางเลือก!”
ในการฟังแบบมีคุณภาพก็ดี ในการเคารพผู้อื่นก็ดี ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้น จากสำนึกของกลุ่มคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ เสริมส่งกันให้เกิดคลื่นเหนี่ยวนำจนทำให้จิตพลอยเป็นสมาธิ เกิดเป็นคนอื่นอีกคนซ้อนขึ้นมา รับรู้รับทราบความเป็นไปของอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเดียวกันนั่นเอง ว่าฟังอย่างไร? เคารพผู้อื่นเพียงพอไหม? และเราสามารถห้อยแขวนการตัดสินความได้หรือไม่?
ในขณะจิตที่เราประวิงเวลาแห่งการตัดสินต่างๆ นั่นเอง พื้นที่แห่งการเป็นไปได้ พื้นที่แห่งทางเลือก แห่งมุมมองและความเข้าใจใหม่ได้เปิดออก เป็นพื้นที่แห่งปัญญา การห้อยแขวนได้ทำให้เกิดสมาธิ และความตั้งใจที่จะห้อยแขวน เป็นตัวก่อให้เกิดความเป็นไปได้แห่งปัญญา
ที่จริงทั้งการฟัง ความเคารพและการห้อยแขวนการตัดสิน ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงส่งเสริมกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ ก่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา คือการฟังเปิดเนื้อที่ให้กับการเคารพ เพราะเมื่อฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นสติปัญญาและคุณงามความดีของผู้คนมากขึ้น การเคารพย่อมทำให้การห้อยแขวนเป็นไป
9
ได้มากขึ้น การห้อยแขวนก็ทำให้การเคารพเป็นไปได้ง่ายขึ้น และการฟังก็จะดียิ่งขึ้นด้วย ด้วยอาการอย่างนี้เอง ที่ทั้ง ๓ หลักการสามารถเสริมส่งกันให้ต่างก็มีคุณภาพลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้
อีกประการหนึ่ง ในการวิจัยทางสมองที่ได้พูดถึงแล้ว การใคร่ครวญที่เกิดขึ้นในสมองที่ส่วนหน้าย่อมทำให้กริยาแห่งอมิกดาลาหรือร่องอารมณ์ ลดทอนหรือยุติลงในช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญนั้น ถ้าฝึกฝนการห้อยแขวนจนทำได้จริง ก็จะเป็นคู่ปฏิปักษ์กับการตกร่องอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของอารมณ์ลบอย่างเป็นอัตโนมัติ กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เมื่อเราตัดสินคน ตัดสินความ เราได้ตกลงไปในร่องอารมณ์ตรงกันข้ามกับการห้อยแขวนการตัดสินทั้งปวงกลับไปกระตุ้นความคิดใคร่ครวญ หรือกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า เป็นการเบรค หรือหยุดยั้งโอกาสที่ร่องอารมณ์ หรือสมองส่วนอมิกดาลาที่จะกระโดดเข้ามา นำพาเราเข้าสู่การถูกจำขังในร่องอารมณ์นั้น
งานสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ หรือศิลปิน จะต้องทำงานกับการห้อยแขวนเช่นนี้ เพราะการห้อยแขวนเปิดโอกาสให้มีช่องว่าง พื้นที่ว่าง ความว่าง แห่งการก่อเกิดความคิดใหม่ มุมมองใหม่ หรือนวัตกรรมทางความคิด เป็นรอยต่อระหว่างสำนึกรู้กับจิตไร้สำนึกที่มาบรรจบ และร่วมงานกันได้อย่างสร้างสรรค์ การห้อยแขวนคือช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะ ในเวลาปกติ เราอาจจะรู้สึกถึงความคับข้องใจ รู้สึกว่าตัน คนที่เคยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์มามากจะรู้และผ่อนคลายตนเอง ละวางจากงานที่ทำอยู่ แล้วจิตไร้สำนึกจะทำงานของมันเอง ในที่สุดคุณภาพใหม่ มุมมองใหม่ก็จะโผล่ปรากฏ ที่เราเรียกว่าญาณทัศนะหรือการรู้แจ้งน้อยๆ ทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้เอง ที่งานในวงสนทนาจะเกี่ยวร้อยกับงานในชีวิตปกติของผู้คน เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และคุณภาพแห่งการฟังก็ดี ความเคารพก็ดี การรู้จักห้อยแขวนการตัดสินก็ดี จะติดตัวเราไปในชีวิตการงาน และด้านอื่นๆ ของเราอย่างไม่รู้ตัว เป็นอัตโนมัติ หากแต่ว่า อัตโนมัตินั้นได้บรรจุการตื่นรู้เข้ามาด้วย เราได้ฝึกฝนการตื่นรู้ขึ้นมาอย่างเป็นอัตโนมัติแล้ว และการตื่นรู้นั้นก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราตลอดเวลาแห่งลมหายใจเข้าออก
เสียงของเรา
เสียงหรือถ้อยคำ เราจะให้ความหมายมันอย่างไร? เสียงที่ออกมาจากคุณเป็นเสียงพร่ำบ่น หรือเป็นการแสดงออกจากความปรารถนาส่วนลึก หรือทำไมในบางสถานที่ ในบางบริบทเสียงของเราไม่ปรากฏ ข้อสังเกตของผมกับงานเขียนของทั้ง วิลเลียม ไอแซคส์ และ มากาเร็ต วีตเลย์ นั้นเหมือนคลำหาอะไรบางอย่างในที่มืด ความรู้มิได้เป็นอะไรที่ตายตัว หากคลี่คลายออกมา ณ ขณะนั้น ไม่ได้เป็นความรู้ที่ผ่านการจดจำมาเล่า แต่เป็นการสัมผัสอะไรบางอย่างจากประสบการณ์ ที่ค่อยๆ ลำเลียงออกมา ณ ความรู้สึกในขณะนั้นๆ เมื่อผู้เขียนสัมผัสกับมัน มันเป็นเหมือนความยุ่งเหยิงที่เป็นระเบียบ เมื่ออ่านงานของเขาทั้งสองแล้ว ไม่ได้เป็นว่า อะไรคืออะไร หนึ่งสองสามอย่างนั้นเลย แต่มันกลับนำพาเราไปได้ไกล
10
กว่า ลึกกว่า สำรวจค้นหาไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่แปลกประหลาดอะไรที่เมื่อได้ไปใช้สถานที่ของโรงเรียนสามัคคีตั้งวงเสวนา ผู้อำนวยการที่มาร่วมด้วยตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละคนพูดเหมือนกวีนิพนธ์
อีกด้านหนึ่งของนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งคือ เปาโล แฟร์ ได้พูดถึงวัฒนธรรมแห่งความเงียบ หรือวัฒนธรรมแห่งการยอมจำนน อันเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ถูกกดขี่ ถูกกำราบให้อยู่ในโครงสร้างแห่งอำนาจ เพราะการพูดอาจจะนำมาซึ่งภัยพิบัติได้ ในการตั้งวงสนทนาหลายครั้งหลายหน อุปสรรคแรกสุดก็คือการฝ่าข้ามวัฒนธรรมแห่งความเงียบนี้ออกไป
แต่สำหรับไอแซคส์ คนพูดมากก็อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะเขาเพียงท่องบ่นเรื่องราวในอดีต เขาไม่ได้ฟังเสียงภายในตัวของเขาเอง เทปม้วนเก่าในหัวของเขาดังกลบเสียงใดๆ ที่ลึกกว่านั้น ที่เขาหรือเธอจะได้ยิน
แต่สำหรับคนที่เงียบงัน เป็นไปได้ที่เมื่อได้ยินเสียงเพรียกจากภายในให้พูด แต่เมื่อเขาหรือเธอตัดสินใจที่จะไม่พูด เสียงภายในก็ค่อยๆ แผ่วลงไป จนในที่สุดเราก็อาจลืมเลือนไป หรือมันอาจจะไม่ย่างกรายเข้ามาในสำนึกของเราได้อีกง่ายๆ แต่เมื่อพูดออกไป มันกลับจะพรั่งพรูออกมา เมื่อนั้นเราจะได้สัมผัสถึงพลังถ้อยคำของเราเอง
เสียงในภาษาตะวันออกกลางโบราณก็คือ abracadabra ซึ่ง abra แปลว่าสร้าง ca แปลว่า as และ dabra แปลว่า speak ซึ่งแปลรวมว่า “I create as I speak” นี่คือปาฏิหาริย์ ถ้อยคำคือพลัง ถ้อยคำสามารถสร้างโลกได้
ยอช เลกี้ (George Lakey) เจ้าสำนักสร้างสรรค์ชุมชน ปรมาจารย์ของนักฝึกอบรมสายเสมสิกขาลัยพูดเรื่องนี้โดยใช้อุปไมยอุปมาของไข่แดงกับไข่ขาว ว่าคนเราหากจมจ่อมอยู่ในไข่ขาว คือความคุ้นเคย (ไข่แดงคือตัวเรา) เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ความสะดวกสบาย ความคุ้นชิน เท่ากับการไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย หลายครั้งที่บอกเล่าเรื่องนี้ให้ผู้เข้าร่วมในวงเสวนาอย่างขึงขัง และเชื้อเชิญให้ก้าวออกมาจากไข่ขาวเพื่อการเรียนรู้ ก็มีหลายต่อหลายคนเปิดเสียงของตัวเองออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกๆ
ทำอย่างไร? เสียงของเราจึงไม่ใช่เพียงการไปจำเขามาพูด
ผมเคยไปสอนหนังสือที่ราชภัฎเชียงราย ในเรื่องการเขียน โดยการใช้สนทนาเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่นำสู่การเขียน ในการสนทนาแรกๆ ที่เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดทุกคนนั้น ปรากฏว่าพวกเขาพูดเหมือนๆ กันหมด คือคนต่อๆ มาก็จะก๊อปปี้คนแรกๆ ที่ผ่านมา แล้วนี่แปลว่าอะไร แปลว่าเราไม่ได้คุยอะไรกันเลย บางทีในวงสนทนา เราจะได้ยินเสียงคนพูดเหมือนประกาศข่าว จะเป็นข่าวอะไรก็ตาม แต่สุ้มเสียงมันเป็นการประกาศข่าวดีๆ นี่เอง ไม่ได้เป็นการหันหน้าเข้าหากัน และการพูดคุยกันแน่ๆ
11
ไอแซคส์ เล่าให้ฟังถึงเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งในเวลานี้เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว เมื่อได้มีการพบปะประชุมกัน เวลาว่างๆ เพื่อคนนี้จะไปนั่งที่เปียโนเล่นเพลงต่างๆ เวลานั้นจะมีคนมาร่วมฟังบ้าง ครั้งหนึ่ง มีคนแก่คนหนึ่งเข้ามาถามว่า เล่นเพลงอะไร เขาตอบไปว่ามูนรีเวอร์ คนแก่บอกว่าไม่ใช่ เพลงก่อนหน้านั้นน่ะ เขาบอกว่าเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง คนแก่คนนั้นบอกว่า มัวแต่ไปเล่นเพลงของคนอื่นอยู่ทำไม ทำไมไม่เล่นเพลงของตัวเองเล่า? จากนั้นมา เขาก็เริ่มเล่นเพลงของตนเอง เวลานี้เขาขายซีดีได้จำนวนเป็นล้านแผ่นแล้ว ไอแซคส์เคยให้เพื่อนเล่นดนตรีของคนอื่นและดนตรีของตัวเองให้แก่วงเสวนาครั้งหนึ่งฟัง และให้หัดแยกความแตกต่างออกจากกัน การสนทนาก็คือการเปล่งเสียงของตัวเองออกมา ไม่ใช่เสียงของคนอื่น ไม่ใช่การพูดอะไรแบบใครๆ ก็พูดกันอย่างนี้เท่านั้น
อีกประสบการณ์หนึ่งที่พบเห็นเป็นประจำ คือการพบครูกับพระ เรื่องนี้คงไม่ได้หมายถึงครูและพระทุกท่านทุกคน แต่ครูและพระทุกคนอาจจะมีปัญหาเช่นนี้ได้ คือท่านจะมีสูตรในการแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมาไม้ไหนแก้ได้หมด มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม แต่ปัญหาก็คือ คำตอบเหล่านั้น ท่านอาจจะคิดมาก่อนหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ว่ามันเป็นคำตอบอย่างตายตัว อย่างไรอย่างนั้น คนเหล่านี้ บางทีอาจจะคมคาย แต่ถ้าฟังสักครั้งสองครั้งเราก็จะรู้แล้วว่าท่านเป็นแผ่นเสียงตกร่อง หรือเป็นเทปม้วนเดิมที่เปิดหมุนวนอยู่ไม่กี่เรื่อง ท่านเหล่านี้ไม่ได้อ่อนไหวต่อบริบท หรือไม่รับรู้บริบทเอาเลย เพราะเครื่องฟังของท่านเหล่านี้คงชำรุดเสียหาย ใช้การไม่ได้มานานแล้ว นี่คือตัวอย่างของความตายแห่งภาษาและความคิด อันจะพ้นยุคสมัยไป
ที่ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งในบรรดาผู้ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนามาพอสมควรแล้ว คือทุกคนจะมีสัมผัสบางอย่าง ระหว่างคนพูดอย่างเล่นเพลงของตนเอง กับคนที่พูดอย่างเล่นเพลงคนอื่น มีความแตกต่างกันในเรื่องคลื่นหรือบรรยากาศรอบตัวคนๆ นั้น ต่อไปอาจจะมีการศึกษาภาษากายอย่างละเอียด แต่จะเห็นตรงกันว่า ใครที่เล่นตามเพลงคนอื่น ใครเป็นนักประกาศข่าว ใครเป็นคนที่พูดออกมาเหมือนตำราอันน่าเบื่อหน่าย และเราจะสัมผัสถึงความสด ความจริงใจแห่งการบอกกล่าวของคนที่พูดจากเสียงของเขาหรือเธอเอง ที่ให้ความชื่นใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสุขหรือเศร้าก็ตาม มีพลังขับเคลื่อนและสร้างโลกที่อยู่รอบๆ ตัวอันเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ...
บริโภคนิยมกับการสนทนา
การไถ่ถอนจากอำนาจของบริโภคนิยมมิใช่ทำกันได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะเข้าใจโดยพุทธิปัญญาถึงคุณและการไถ่โทษของการดำรงชีวิตอยู่ในวิถีแห่งการบริโภค แต่เราก็ไม่สามารถละเลิกการบริโภคต่างๆ และไม่สามารถสร้างสรรค์ชีวิตอันปลอดพ้นจากการบริโภคได้ อันที่จริงบริโภคนิยมเป็นอาการเสพติดชนิดหนึ่งที่เป็นแบบทั้งชีวิต ในทุกแง่มุมของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการนำไปสู่การเสพติดยาของเยาวชนที่อยู่ในโลกของบริโภคนิยมอย่างเต็มตัวให้เป็นไปได้โดยง่ายดาย
12
นักคิดที่เข้าใจปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดีคือ ไอวาน อิลลิช (Ivan Illich) ที่ได้เห็นถึงการถอดถอนอำนาจของปัจเจกบุคคลที่จะดำรงชีวิตอย่างผู้กระทำการ และหาญกล้าให้การศึกษาตนเอง เรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เขาพูดถึงระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้คิด ตัดสินใจ ออกแบบสังคม และความเป็นไปในชีวิตผู้คน เขาพูดถึงการที่สังคมได้มอบอำนาจหรือถูกฉกฉวยอำนาจไปให้กับระบบโรงเรียน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะโรงเรียนที่เยาวชนเข้าไปรับการศึกษาเท่านั้น หากหมายถึงระบบโรงเรียนในทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ที่สามัญชนถูกลิดรอนอำนาจในการคิด ตัดสินใจ และออกแบบชีวิต หากเขาจะต้องทำตามสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เห็นว่าดีงาม ปริมณฑลของชีวิตด้านต่างๆ ก็มีเช่น เศรษฐกิจ สาธารณสุข พาณิชยกรรม การศึกษา การพักผ่อน การบันเทิง สื่อสารมวลชนและอื่นๆ อีกไม่รู้จบ
แต่ลักษณะร่วมกันที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปริมณฑลของชีวิตคือ มนุษย์เปลี่ยนสภาพจากผู้คิด ตัดสินใจ ออกแบบ และกระทำการ มาเป็นผู้เสพอย่างเฉื่อยชา อิลลิชได้ยกตัวอย่างของดนตรีในหมู่บ้านที่สืบทอดมาเป็นประเพณีทั่วไป ทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก การมีวงดนตรีสองสามวงในหมู่บ้านหนึ่งๆ นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา การใช้ดนตรีและเพลงโดยชาวบ้านเล่นและร้องกันเองในกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่เมื่อมีวิทยุมีเทปเพลงเข้ามา สิ่งเหล่านี้ก็หายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสูญสิ้นไป เมื่อมนุษย์ไม่ได้กระทำ การประดิษฐ์คิดค้นพลิกแพลงก็ไม่เกิดขึ้น เรื่องอื่นๆ ในปริมณฑลอื่นๆ ก็เกิดขึ้นมาในทำนองเดียวกัน
เรื่องการสนทนาก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน ดังเพื่อนคนหนึ่งคือ แกรนด์ โอลสัน (Grand Olson) ผู้เคยมาเป็นพีซคอร์ป (Peace Corps) ในเมืองไทยเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว ณ เมืองสุพรรณบุรี ก็สามารถเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อเขามาอยู่ในฐานะอาสาสมัครสันติภาพที่เมืองสุพรรณบุรีนั้น บ้านพ่อแม่คนไทยที่เขาอยู่ด้วยเป็นชานเมืองที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีโทรทัศน์ เมื่อทานข้าวเย็นเสร็จ สมาชิกในครอบครัวขยายนั้นก็นั่งล้อมวงพูดคุยกันด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าซ และในวงสนทนานี้เองที่ทำให้เขารู้จักสังคมไทย ความโอบอ้อมอารี ความอุดหนุนเกื้อกูลกันในสภาพสังคมชนบทและมิติของพุทธธรรมที่กลมกลืนลงสู่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ในสังคมสหรัฐอเมริกาหมดไปนานแล้ว การสนทนาที่แท้จริงจะหาได้ยาก ต้องดั้นด้นหาเพื่อนที่อาจจะคุยกันได้อย่างถูกใจ แต่ไม่ได้มีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เมื่อแกรนด์กลับมาเยี่ยมเมืองไทยต่อมาเป็นลำดับ สองสามปีครั้ง เขาก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่เป็นไปในสังคมอเมริกา โทรทัศน์ได้เข้ามาจับจองใจกลางบ้าน และการสนทนาอย่างเดิมก็หายไปจากครอบครัว ทุกคนก็เริ่มยุ่งยากกับกิจการต่างๆ จนแทบไม่มีเวลาให้กับการสนทนาที่แท้จริงอีกต่อไป
เมื่อมองในแง่มุมมอง ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญา การสนทนาจะเป็นเวทีของการก่อเกิด เมื่อเวทีการสนทนาหายสาบสูญไปหรือกระพร่องกระแพร่ง ประชาชนคนสามัญก็จะขาดการเข้าร่วมในการก่อเกิด แปรเปลี่ยนและวิวัฒนาภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีกต่อไป หากกลายเป็นผู้ถูกกระทำ
13
อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเหยื่อที่กระตุ้นได้ง่ายจากสื่อโฆษณา และความคิดก็ถูกครอบงำด้วยบรรษัทข้ามชาติ อันผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีมิติอยู่ในกรอบกระบวนทัศน์เก่า อันเป็นมุมมองซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานและวิวัฒนาการของชีวิตโดยสิ้นเชิง
ถ้าพูดแบบภาษาของพวกโพสต์โมเดิร์น หมายถึงการถูกแย่งชิงวาทกรรม เมื่อปราศจากวาทกรรม ประชาชนสามัญก็ยากไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ในการปรับเปลี่ยนตนเองและสังคม
ดังนั้น เราต้องสร้างช่องว่างให้กับพื้นที่ที่เสียไปในทศวรรษที่ผ่านมา อัตเน่ รีดเดอร์ (Utne Reader) นิตยสารทางเลือกเล่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึง “การปฏิวัติในห้องนั่งเล่น” ดัง ปาจารยสาร ฉบับหัวกะทิ ที่ผมเป็นบรรณาธิการอยู่ในเวลานั้น เอาความคิดนี้มาเล่นต่อ สาระสำคัญก็คือ เราควรจะลดความสำคัญของโทรทัศน์ลงไป โดยการกำจัดเวลาดู และย้ายออกไปจากใจกลางบ้าน คือ ห้องนั่งเล่น ให้กับการสนทนา และนอกจากจะสนทนากับสมาชิกในบ้านแล้ว ก็เชิญเพื่อนๆ เข้ามาสนทนาด้วย จัดกรอบโครงของเวลาใหม่ ให้มีเวลาสนทนายาวนานกว่าสามชั่วโมงขึ้นไป เวลาอุดมคติของโบห์ม คือ ๕ – ๖ ชั่วโมง ผมนึกถึงกลุ่มปัญญาชนอังกฤษอย่างบลูมส์เบอรี่ (Bloomsbury) ที่มี เวอร์จิเนีย วูลฟ์ (Virginia Woolf) ยอช เบอนาร์ด ชอร์ (George Bernard Shaw) เป็นต้น พวกเขาอยู่ด้วยกันทั้งบ่าย จนจรดดึกดื่น พูดคุยเดินเล่น ฯลฯ การก่อเกิด ภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา จึงเป็นไปได้
ปาจารยสาร หัวกะทิ อีกฉบับหนึ่ง คณะบรรณาธิการตัดสินใจร่วมกันจั่วหัวว่า “ความสุขไม่ต้องซื้อหา” เรามักหลงลืมไป และพากันไปยึดติดสื่อกันงอมแงม เพราะที่จริงแล้ว สื่อก็รายงานเรื่องราวของมนุษย์นั้นเอง และเรื่องราวของมนุษย์อาจนำมาบอกเล่ากันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อแต่อย่างใด ในทำนองเดียวกันนี้ ผมคิดถึงเรื่องที่หันเหมุมมองเรื่องหนึ่งโดยตั้งคำถามทักทายว่า แทนที่เราจะเขียนนิยายขึ้นมาจากเรื่องราวของผู้คน ทำไมเราจึงไม่คิดเล่าว่า แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตของเราเองก็คือนิยายที่ยิ่งใหญ่ และการดำรงชีวิตของเราอย่างเต็มเปี่ยม ก็คือการขีดเขียนนิยายดีๆ ออกมาเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องขีดเขียนบันทึกแต่อย่างไร
แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตของเราเองก็คือนิยายที่ยิ่งใหญ่ และการดำรงชีวิตของเราอย่างเต็มเปี่ยม ก็คือการขีดเขียนนิยายดีๆ ออกมาเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องขีดเขียนบันทึกแต่อย่างไร…
14
อีกประการหนึ่งที่สำคัญเพราะเป็นไวยากรณ์หลักของชีวิต คือ “ชีวิตคือการเรียนรู้” และเนื่องด้วยว่าชีวิตมีธรรมชาติเป็นเครือข่าย ชีวิตก็คือ “เครือข่ายแห่งการเรียนรู้” การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เริ่มจาการตั้งสมมติฐาน ลงมือปฏิบัติตามสมมติฐานนั้น และนำผลกลับมาพูดคุย กลั่นกรองประสบการณ์และหาความหมายกันในเครือข่าย ซึ่งมีการสนทนาเป็นกุญแจดอกสำคัญ
15

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น