วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

กล้าสอน (3) กระบวนการสอนที่แตกต่าง วิศิษฐ์ วังวิญญู

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญูหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2552หนึ่ง ในสามประเด็นเรื่อง “กล้าสอน” อันเป็นข้อสุดท้ายที่พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดถึง คือ “เรื่องของวิธีการสอน” ในบทความเรื่อง “กล้าสอน (๑) และ (๒)” ผมได้พูดถึง หนึ่ง ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู สอง เรื่องขององค์ความรู้ ใน “กล้าสอน (๓)” ผมจะพูดถึงประเด็นวิธีการสอน ซึ่งผมคิดว่าพาล์มเมอร์กำลังพูดถึง “วิถี” มากกว่า “วิธี” และที่จริงเรื่องวิธีการสอนก็ไม่ได้แยกออกไปจาก “ตัวตนของครูและองค์ความรู้” เลย แต่การพูดถึงวิธีการสอนต่างหากออกมา โดยกลับไปเชื่อมโยงกับทั้งสองประเด็นก่อนหน้าบ้างนั้น จะมีมิติใหม่ที่ทำให้เราสามารถเห็นและเข้าใจกระบวนการสอนแบบนี้มากขึ้นพาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับการโอบกอดคู่ตรงกันข้าม หรือธรรมชาติที่มีขั้วสองอย่างที่ขัดแย้งกัน หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox ซึ่งคนที่สนใจพุทธศาสนานิกายเซนจะคุ้นเคยกับ “นัยยะขัดแย้ง” เช่นนี้ ยกตัวอย่างในวิธีการสอนโดยโอบอุ้มเวทีการเรียนรู้ พาล์มเมอร์ใช้คำว่า “open but charged” คือ ผู้นำพาการเรียนรู้จะสร้างพื้นที่เปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ charged ด้วย อาจจะแปลว่า เปิดเหมือนไม่เปิด แต่ก็ยังเปิดอยู่ และสร้างแรงกดดัน คือ เพิ่มแรงเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปในวงเปิดนั้น หรืออีกคำหนึ่งของพาล์มเมอร์ คือ “open but bound หรือ เปิดแต่ก็มีขอบเขต” นี่เป็นตัวอย่างของการนำแนวทางสองอย่างที่ฟังดูขัดแย้งกัน แต่นำมาวางคู่กัน อยู่ด้วยกันปัญญาแห่งวิธีการสอนดังกล่าว เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปะ มิใช่เป็นสิ่งที่พอได้อ่านถ้อยคำอธิบายแล้ว แม้ไม่มีประสบการณ์มาเลย ก็ยังเอาไปทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเด็ดขาด หากแต่จะต้องนำไปปฏิบัติ และอาจจะต้องเคยเห็นพื้นที่เปิดที่เต็มไปด้วยพลังอัดแน่นอย่างเข้มข้นมาก่อน ด้วย การเรียนรู้แบบที่พาล์มเมอร์อยากให้เกิดในห้องเรียนนั้น เขากล่าวว่าต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการตื่นรู้อย่างไม่ธรรมดา ให้เกิดขึ้น เมื่อได้บรรยากาศเช่นนั้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างไม่ธรรมดา อันเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง ผมคิดถึงการตื่นตัวพิเศษด้วยจิตตื่นโพลง ด้วยจิตตื่นรู้ ที่ไม่เพียงผ่อนคลายและปลอดภัย แต่มากกว่านั้น จะทำอย่างนั้นได้ ไม่มีทางเลยที่ครูจะไม่นำพาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันอย่างทุ่มเททั้งตัว ตัวตนของครูต้องเข้ามา ต้องเปิดและอัดพลังเข้มข้นเข้ามาด้วยใน เวิลด์คาเฟ่ หนังสือเล่มหนึ่งของทีมเวิลด์คาเฟ่ ที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบไดอะล็อค อย่างหนึ่ง จวนนิต้า บราวน์ (Juanita Brown)ใช้คำว่า “ทำซุปให้ข้น” ในวงการที่ศึกษาเรื่องสมองจะใช้คำว่า “Optimum Learning State” หรือ “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ซึ่ง แอนนา ไวส์ (Anna Wise) ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือของเธออัน เกี่ยวกับคลื่นสมอง กล่าวคือใน “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” นี้ คลื่นสมองจะทำงานพร้อมกันเต็มพิกัด ทุกคลื่น หมายถึงสมองสามชั้นจะทำงานร่วมกันเต็มพิกัด ก่อให้เกิดจิตตื่นรู้ อันเป็นที่จิตสามารถมองเห็นโลกภายนอกภายในพร้อมกันอย่างแจ่มชัด ทรงพลัง และมีพลังขับเคลื่อนเตรียมพร้อมที่จะเขียนโลกใบใหม่ โดยเขียนโลกภายในใหม่ พร้อมกันการสังเกตที่โลกภายนอกนั้นจะค่อยๆ คลี่บานยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามโลกภายในที่เขียนขึ้นใหม่ กล่าวคือ การศึกษาที่แท้จริง เป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวตน หรือในโลกภายในของผู้เรียน ซึ่งเมื่อโลกภายในเปลี่ยน โลกภายนอกก็จะแปรเปลี่ยนตามไปด้วยกันถ้าเราเอา “ชุดความรู้แบบเก่า” เข้าไปจับ เราอาจจะพยายามถอดบทเรียนของครูชั้นเซียน ออกมาเป็นวิธีการสอน แล้วเอาไปให้ครูฝึกหัดลอกเลียนใช้กัน แต่แล้วมันจะออกมาไม่ได้ตามที่ครูชั้นเซียนเคยทำได้ เพราะนี่คือปัญญาปฏิบัติ หรือ ศิลปะ ซึ่งลอกเลียนจากภายนอกไม่ได้ ปัญญาปฏิบัติจะขึ้นต่อบริบทที่มีชีวิต ณ ขณะนั้นๆ ด้วย ความเข้าใจในกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วม บรรยากาศสภาพ แวดล้อม ธรรมชาติแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ระบบนิเวศ ใจคนที่เข้าร่วม ภูมิหลัง ความเป็นมาของผู้เข้าร่วม การตื่นโพลง ความรับรู้อันแหลมคมเป็นพิเศษของครูชั้นเซียนคนนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้น นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัญญาปฏิบัติ วิธีการสอนไม่ตายตัว หากแต่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง ตลอดเวลาสเตฟานี เพจ มาร์แชล (Stephanie Pace Marshall) หนึ่งในนักการศึกษาคนแรกๆ ที่พยายามหันเหระบบการศึกษาให้กลับมาใช้อุปไมยอุปมาของระบบชีวิต ได้กล่าวถึงมิติวิธีการสอนในระดับชุมชน โดยได้พัฒนาแนวคิด การสร้างสรรค์ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างก่อเกิด” เอาไว้อย่างน่าฟังในหนังสือ The Power to Transform: Leadership that brings learning and schooling to life (2006) โดยเธอได้กล่าวว่า“ชุมชนการเรียนรู้อย่างก่อเกิดย่อมจะ๑. เชื้อเชิญ พัฒนา และหล่อเลี้ยงศักยภาพอันมีอยู่อย่างหลากหลายในตัวเด็ก ในการสร้างความหมาย บูรณาการ สำรวจ ค้นพบ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดปัญญา๒. เชื่อมโยงเด็กกลับไปสู่โลกแห่งธรรมชาติ ชุมชน และครอบครัวของมนุษยชาติอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกลับไปสู่เอกภาพ องค์รวม การอิงอาศัยกันและกัน ความหลากหลาย ความสดใหม่ ตลอดจนการสรรค์สร้างของระบบชีวิตอันปราศจากขอบเขตจำกัด๓. ให้เด็กได้กลับไปหมั้นหมายกับความร่ำรวยของชีวิตด้านใน อันได้แก่ อารมณ์ความรู้สึก ญาณทัศนะ จินตนาการ ความรัก ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้๔. หล่อเลี้ยงศักยภาพในเด็กแต่ละคน เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพขึ้นมาในชีวิตของตัวเอง อย่างชาญฉลาด และ “ร่วม” ก่อร่างสร้างอนาคตแห่งมนุษยชาติ ด้วยการพัฒนาศักยะแห่งการเผยออก หรือความสามารถในการสืบค้นความหมายจากแบบแผนต่างๆ การคิดเชิงระบบ การมองการณ์ไกล และสามารถกระทำการด้วยฐานแห่งจริยธรรม”แล้วสำหรับวิธีการสอน หรือกระบวนการเขียนโลกใบใหม่ระดับสังคม เธอได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า“ไม่มีช่วงเวลาไหนสำคัญเท่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ และออกแบบระบบโรงเรียนใหม่ ให้เป็นที่ซึ่งจิตใจ หัวใจ และจิตวิญญาณของเด็ก ตลอดจนอนาคตของมนุษยชาติจะได้รับการหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงาม อนาคตของมนุษยชาติจะถูกกำหนดขึ้นด้วยจิตของเด็ก ตลอดจนคุณภาพแห่งการดำรงอยู่บนพื้นพิภพของพวกเขาเหล่านั้น นี่คือเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายออกจากกระบวนทัศน์แบบลดทอน สั่งการ และการทำอะไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของระบบโรงเรียน นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่เราจะสรรค์สร้างการเรียนรู้และระบบ โรงเรียนอย่างก่อเกิด ซึ่งสนับสนุนเกื้อกูลชีวิต และเป็นเรื่องราวของเด็กเฉพาะแต่ละคนที่จะได้รับการปลุกเร้าให้เกิดจิตใจอัน มีองค์รวม สุขภาวะ สั่นไหวด้วยคลื่นพลังอย่างกระตือรือร้น และกอปรไปด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่จะหาหนทางอันเป็นธรรมชาติของตัวเอง ในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ฉะนั้น การเล่าเรื่องเสียใหม่เช่นนี้ จะกลายมาเป็นแผนที่นำทางอย่างใหม่ให้แก่เรา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น