วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเปลี่ยนแปลงทางจิต สู่ชีวิตที่ไม่ยุ่งยาก: นพ.ประสาน ต่างใจ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2552มนุษย์ในสมัยหินคงมีความยุ่งยากในการดำรงชีวิตหรือความทุกข์น้อยกว่าเราในปัจจุบันมาก นั่น - ผู้เขียนคิดว่า เพราะความเจริญก้าวหน้า - ซึ่งคิดว่าเป็นความเสื่อมมากกว่า - ความทันสมัย เทคโนโลยีหรือแฟชั่น ฯลฯ พูดง่ายๆ คือความเจริญนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มีความยุ่งยากหรือความทุกข์หากเราเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกเรา เช่น โรเจอร์ สเปอรี หรือ จอห์น เอคเคิลส์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งคู่) ว่าเป็นจิตที่คุมกาย ทั้งจิตก็ไม่ใช่สมองและไม่ได้อยู่ในสมองแห่งเดียว ทุกวันนี้ แม้นักประสาทวิทยาศาสตร์เองอย่างน้อยหลายคนเชื่อว่า พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงของเราไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม (ใจหรือจิตใจ) ล้วนเป็นผลพวงการทำงานของจิตรู้หรือจิตสำนึกเป็นปฐม ซึ่งเป็นไปตามที่ศาสนาพุทธบอกเรามาเป็นพันๆ ปีแล้วว่า ชีวิตหรือสัตว์โลกนั้นประกอบด้วยรูปกับนามเท่านั้น โดยจะสอนว่า คำว่านามคือวิญญาณขันธ์ หรือตัวรู้ หรือจิตสำนึก หรือคือจิตที่ผ่านการบริหารโดยและที่สมองนั่นเอง สมองที่ทำให้จิตกลายเป็นนาม หรือการ ตื่น ของจิตเพื่อเป็นนามที่พร้อมจะรู้ผู้เขียนเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสมองไม่ใช่จิต - จิตเพียงเข้ามาอยู่ในสสารวัตถุหรือรูปกายของชีวิตทุกๆ ชีวิต แม้แต่ในสัตว์เซลล์เดียว - แต่สมองก็มีความจำเป็นที่สุดต่อวิวัฒนาการของจักรวาล โลก และชีวิต นั่นคือความสามารถในการบริหารจิตให้เป็นนามหรือตัวรู้ที่ ตื่น และพร้อมที่จะ รู้ ซึ่งมีแต่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของชีวิตได้สมบูรณ์ที่สุด คนไทยมักจะสับสนกันตรงเรื่องจิตซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก แถมเราทำให้มันยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยเอาภาษาอังกฤษกับนิยามของนักจิตวิทยาฝรั่งมาใช้โดยไม่อ่านพุทธศาสตร์ในเรื่องของจิตเสียก่อน แล้วค่อยไปอ่านหรือเชื่อ ฟรอยด์ แอดเลอร์ หรือนักจิตวิทยาตะวันตก เพราะพุทธองค์เป็นนักจิตวิทยาที่เหนือกว่าใครเป็นไหนๆ (Carl C. Jung Commentary in Evan-Wentz’s Bardo Thodol; 1927) เรางงเพราะใช้ภาษาอังกฤษสุดแต่จะใช้คำไหน (mind, mental, soul, spirit consciousness, etc. หรือแม้แต่คำว่า unconsciousness as consciousness) ทั้งๆ ที่ฐานความรู้ในเรื่องของจิตที่ใช้ๆ กันยังสับสนพอแรงอยู่แล้ว เราจึงใช้กันแทบจะมั่วไปหมด จนกระทั่งผู้อ่านสับสนหรือผู้ใช้บางทีก็สับสนเสียเองสำหรับผู้เขียนนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย คือจิตไร้สำนึกพื้นฐานของจักรวาล (cosmic consciousness ที่ คาร์ล จุง เรียก unconscious universal continuum) ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่า คือจิตไร้สำนึกที่เป็นจิต (unconsciousness as consciousness) นั่นคือ “เต๋า” ใน เต๋าเต็กเก็ง หรือวิญญาณในพุทธศาสนาในอีกความหมายหนึ่งอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบทความ คือเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมอันเป็นพื้นฐานของวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือรู้แจ้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งเชื่อว่าการรู้แจ้งของปัจเจกนั้นจะนำไปสู่การ ตื่นรู้ ของสังคมโดยรวม (collective) ในภายหลัง ซึ่งทั้งสอง - ปัจเจกและโดยรวม - คือเป้าหมายและจุดหมายปลายทางของมนุษย์และสังคมที่สำคัญที่สุด ทำให้ผู้เขียนต้องมาเป็นคอลัมนิสต์และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ – เพื่อที่อาจจะ ช่วยหรือเสริมเติม - ให้ผู้อ่านบางคนนำมาคิดหรือเป็นผลทางอ้อมให้ผู้นั้นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงจนเกิดวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณได้จริงๆ แล้ว เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกที่ยิ่งใหญ่ หรือเรื่องของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติหรือจักรวาลทัศน์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนมาตั้งแต่เริ่มเขียนใหม่ๆ และมาตอกย้ำด้วยหนังสือที่ชื่อ บุพนิมิตกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเขียนลงในสื่อต่างๆ มาเมื่อสิบปีก่อนแล้ว โดยผู้เขียนได้ย้ำว่าหากทุกคนไม่เปลี่ยนจิตและพฤติกรรมของตนได้ทันกับเวลา เผ่าพันธุ์ของเราอาจจะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นเยี่ยงไดโนเสาร์ เพราะว่าผู้เขียนไม่เชื่อในเรื่องของความบังเอิญ ซึ่งไม่เคยมีและมีไม่ได้ ถ้าหากผู้ใดสังเกตให้ถ้วนถี่ถึงประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมและชีววิวัฒนาการของสัตว์จนกระทั่งเป็นมนุษย์ และจงอย่าลืมว่า จิตของมนุษย์ปัจจุบันนั้นได้ผ่านจิตตาวิวัฒนาการ (เช่นเดียวกับชีววิวัฒนาการแต่ช้ากว่า) จนแตกต่างกันกับจิตของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ หรือมนุษย์เดินตัวตรง (Homo erectus) อย่างมากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ดูจะเป็นประดุจประหนึ่งว่ามนุษย์เรามาอยู่ที่นี่เพราะจักรวาลต้องการเช่นนั้น (cosmologic anthropic principle) ดังที่นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยเลยเชื่อ รวมทั้งผู้เขียนเพราะว่าผู้เขียนคิดเป็นอย่างอื่นไม่ออกจริงๆถ้าเป็นเช่นนั้น นายบารัก โอบามา - หนุ่มผิวสีที่ชูนโยบายการเปลี่ยนแปลง (change) ที่ผู้เขียนเชื่อว่า เขาอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของประเทศและการเปลี่ยนแปลงทางจิตและพฤติกรรมของประชาชนอเมริกัน - ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเหนือคู่ต่อสู้อย่างถล่มทลาย - ซึ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่า โอบามาจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศรวมโลกได้ทันกับเวลาหรือไม่และอย่างไร อย่างลืมว่า ไม่ว่าจะมีผู้รักหรือรังเกียจสหรัฐอเมริกาสักเท่าไร ก็มิได้ทำให้การเป็นผู้นำโลกของสหรัฐต้องเปลี่ยนสถานภาพไป เพราะว่าสหรัฐคือผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองแต่เพียงประเทศเดียวโดยประเทศแทบไม่บอบช้ำเลย และที่ยิ่งไปกว่านั้น เป็นสหรัฐประเทศเดียวจริงๆ ที่ริเริ่มทำร้ายและทำลายระบบนิเวศโลกกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเจริญก้าวหน้า (ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความเสื่อมสลายหายนะของโลก) ด้วยเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกานุวัตรที่พ้องจองกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ถ้าหากเรามองจากวิวัฒนาการของจักรวาล ของโลก และของมนุษย์กับสังคม เราคงไม่สามารถที่จะมองข้ามหรือขจัดข้อสันนิษฐานของนักฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ (cosmological anthropic principle) ออกไปได้ทั้งหมด คือเป็นไปได้ที่จักรวาลซึ่งมาจากหนึ่ง (singularity) อาจสามารถรับรู้ความผันผวน หรือความฉิบหายที่เกิดขึ้นกับดาวนพเคราะห์โลกของเราที่อยู่ในจักรวาลเดียวกัน ความล่มสลายหายนะที่เกิดจากเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจเสรีอันมีอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม และตามด้วยกระแสโลกานุวัตรในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น ได้ส่งผลให้กระบวนการวิวัฒนาการกระทบกระเทือนไปทั่วจักรวาลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลของเศรษฐกิจหรือระบบสังคมการเมืองซึ่งกำลังเป็นปัญหาและวิกฤตของทุกประเทศในโลก โดยไร้ทางแก้ไขใดๆ ทางรูปร่างกายภาพหรือวัตถุ (physical) ให้กลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งสิ้น - ความเถลไถลเฉไฉผิดไปจากธรรมชาติอันเป็นความยุ่งยากทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นด้วยตัวเราเอง จึงตัวเราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้แก้ไขหนังสือขายดีมากๆ ของ ดเวน เอลยิ่น – นักจิตวิทยาที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีนักจิตวิทยาที่หันมานับถือจำนวนมากขึ้นรองจากนักฟิสิกส์ยุคใหม่ - ชื่อ การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายโดยสมัครใจ (Duain Elgin: Voluntary Simplicity, 1993) ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันสร้างวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ขบวนการมีชีวิตที่เรียบง่าย” ขึ้นมาขบวนการหนึ่ง อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้๑. ให้หาเพื่อนหรือหาเด็กๆ ในการใช้เวลาและพลังงานของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีพฤติกรรมที่เรียบง่ายด้วยตัวเองและร่วมกัน เช่น การเดิม การเล่นดนตรี เข้าค่าย หรือกินอาหารง่ายๆ ร่วมกัน๒. ในการทำอะไรในชีวิตประจำวันของตนเอง ทั้งทางกาย อารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณ ให้ทำด้วยความสงบและรู้ตัว๓. คิดถึงและอ่อนไหวต่อธรรมชาติของโลกเสมอๆ๔. รู้สึกเห็นใจและเต็มใจช่วยเหลือชาวโลกผู้ยากไร้หรือลำบาก๕. ขจัดและเปลี่ยนแปลงนิสัยในการหาและการมีอุปกรณ์ที่เป็นแฟชั่นและทันสมัยส่วนตัวลงไปให้มากที่สุด คงไว้เฉพาะที่จำเป็นทนทานและซ่อมง่าย๖. หลีกเลี่ยงอาหารฟุ่มเฟือยและไร้คุณค่า กินอาหาร “สุขภาพ” ที่เรียบง่ายและหาง่ายตามธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้๗. ลดและบริจาคเสื้อผ้า หนังสือ และของใช้ส่วนตัวให้เป็นนิสัย๘. หมุนเวียน ซ่อมแซม นำมาใช้ของเก่าที่ยังใช้ได้๙. ใช้สิ่งแวดล้อมแต่น้อยอย่างมีคุณค่า โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของมันเสมอ๑๐. เดินทางไปไหนๆ ใช้การขนส่งสาธารณะ จักรยานหรือเดินเอาและผู้เขียนขอเพิ่มอีกสองอัน คือ๑. ลดการดูทีวีและคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ประโยชน์ลงให้มากที่สุด๒. คบแต่บัณฑิต ไปวัดหรือสุเหร่าหรือโบสถ์ และรู้จักปฏิเสธเสียบ้างคิดว่า หากเราสามารถทำได้ทั้ง ๑๒ ข้อ เราอาจเรียกว่าเป็นคนที่ดำรงชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายได้ หรือท่านผู้อ่านท่านใดคิดออกต่อจากที่เขียนมาทั้งหมดก็ยิ่งดี ปัญหาอยู่ที่ “ความสมัครใจ” เพราะความเรียบง่ายหรือพฤติกรรมทั้งหลายแหละของมนุษย์เรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของจิต (รู้) ที่ควบคุมกาย วาจา และจิตใจ อย่าลืมว่า นักวิทยาศาสตร์ทางจิตส่วนหนึ่ง รวมทั้งในความหมายของผู้เขียนที่เขียนมาตลอดมา จะมองจิตใจ - ที่รวมการรับรู้ ความรู้สึก อารมณ์ ความคิดจินตนาการ และความจำอันเป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกซึ่งเป็นจิตที่ผ่านการบริหารที่สมองไปเรียบร้อยแล้ว - สำหรับผู้เขียนที่เขียนมาตลอดนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย จะเป็นจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น นั่นคือจิตที่อยู่ในทุกที่ว่างของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในสมองและบริหารพร้อมทั้งวิวัฒนาการที่และโดยสมอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น