วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเขียนตามทฤษฎีตัวยู

คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
เวลาที่เราพูดถึง "การเขียน" คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกเลยไปถึง "การเป็นนักเขียน" เลยทันที ทึกทักคิดเอาเองว่า "ต้องเป็นนักเขียนเท่านั้น" จึงจะสามารถเขียนได้ "การเขียน" ในความหมายของบทความชิ้นนี้ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้อง "เขียนแบบนักเขียน" เท่านั้น แต่ผมหมายถึงการลงมือเขียนจริง คุณจะถูกเรียกว่าเป็นนักเขียนหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
ผมเชื่อว่าใน พ.ศ.นี้ คนไทยที่ "เขียนไม่ได้" อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผมสังเกตว่าคนไทยจำนวนมากละเลยทักษะการเขียนไป จะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุใดก็ตามแต่
คนไทยใช้การเขียนน้อยเกินไปทั้งๆ ที่การเขียนก็ใช้แค่กระดาษเปล่าๆ ปากกาหรือดินสอสักด้ามเพียงเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมีโน้ตบุ๊กแบบพกพาหรือจะต้องเขียนด้วยการพิมพ์ลงไปในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ผมอยากจะเรียนว่า สิ่งที่ผมพบก็คือ "การเขียน" จะสามารถช่วยทำให้สมองทั้งสามชั้นของคุณสมดุลสอดประสานกันได้มากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คือ "สมองชั้นนอก-ได้คิด, สมองชั้นกลาง-ได้รู้สึก และสมองชั้นต้น-ได้ลงมือกระทำคือขีดเขียน"
ในระยะหลังๆ มานี้ ผมเริ่มนำ "การเขียน" เข้ามาใช้ในเวิร์กช็อปมากขึ้นกว่าเดิมคือให้ผู้เข้าร่วมเขียนทุกๆ วัน เราจะจัด "สมุดประจำตัว" ที่เราเรียกว่า "สมุดบันทึกการเดินทาง"(Journal of Journey) ให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนไว้ติดตัวตลอดระยะเวลาการทำเวิร์กช็อป
การเขียนก็เริ่มต้นจากง่ายๆ ครับ เป็นการเขียนที่ผู้เข้าร่วมทุกคนจะเขียนได้ ผมให้เวลาประมาณสองสามนาที ลองให้ทุกคนเขียน "สิ่งที่คุณกำลังรับรู้อยู่ในขณะนี้ว่ามีอะไรบ้าง?" ให้ทุกคนลองเขียนสิ่งที่แต่ละคนได้รับรู้ตามจริงของแต่ละคน ผมมักจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมลองบันทึกวันเวลาที่เขียนไว้ในสมุดประจำตัวด้วยในทฤษฎีตัวยูของออตโตชาร์มเมอร์ "การเขียน" ด้วยโจทย์ง่ายๆ ข้อนี้จะช่วยให้ผู้เขียนได้เริ่มขยับลงไปตามขาลงของตัวยู เป็นระดับที่สองคือ "เริ่มสังเกต" มองเห็นรับรู้และ "เปิดความคิด" ของตัวเขาเองเพราะคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในความเป็นอัตโนมัติแบบเดิมๆ ที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ทั่วๆ ไป ซึ่งตรงนี้เรียกว่าเป็นระดับที่หนึ่งของตัวยูหรือดาวน์โหลดดิ้ง ทำให้เราไม่ได้ "มองเห็น" สิ่งที่เป็นจริงภาพที่เป็นจริงหรือแม้แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงเสียทีเดียวนัก วันแรกๆ ผู้เข้าร่วมหลายๆ ท่านก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจแต่ผมก็มักจะยังไม่อธิบายอะไรมากมาย อยากให้ลองเรียนรู้ด้วยการสัมผัสจริงมากกว่า และการเรียนรู้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อเขา "ได้ลงมือทำจริง ได้เขียนจริง" ด้วยตัวของเขาเอง และผมมักจะให้ผู้เข้าร่วมทำซ้ำด้วยการเขียนสั้นๆ แบบนี้ด้วยโจทย์เดิม ในวันแรกสองถึงสามครั้ง ในช่วงก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงวันต่อๆ มาก็จะค่อยๆ เพิ่มคำถามเข้าไปอีกว่าเมื่อแต่ละท่านได้รับรู้แล้วว่าเห็นอะไรบ้าง หรือได้ยินอะไรบ้าง ให้ลองเขียน "ความรู้สึก" ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต่อสิ่งที่เห็นนั้นๆ ด้วยว่า "รู้สึกอย่างไร?" กำกับเข้าไปในบรรทัดของการเขียนด้วย ขั้นตอนนี้ก็จะค่อยๆ เป็นการนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ลงลึกไปสู่ระดับที่สามของทฤษฎียูคือ "การเปิดหัวใจ" คือคุณรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ได้รับรู้ ณ เวลานั้น ณ สถานที่นั้นๆและเมื่อ "การเขียน" ได้ดำเนินไปซ้ำๆ มากรอบขึ้นเรื่อยๆ ผู้เข้าร่วมก็จะค่อยๆ ลืมเรื่องการเป็นนักเขียนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาได้สัมผัสเองแล้วว่า "เขาเขียนได้" สิ่งที่เขียนไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็นเพียงการบันทึกการเดินทางด้านในของคุณ สิ่งที่คุณพานพบจริงๆ ณ เวลานั้นๆ และเมื่อโอกาสเวลาสถานที่บริบทเหมาะสม ผมก็จะ "โยนโจทย์" เพื่อช่วยนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ลงลึกลงไปสู่ "ระดับที่สี่" ของทฤษฎียูหรือ "ก้นตัวยู" ซึ่งก็คือ "ความหมายของชีวิต" โดยอาจจะเริ่มต้นจากการให้ทุกคนลองเขียน "เรื่องราวที่เคยภาคภูมิใจ" ในชีวิตของแต่ละคนมาอย่างน้อยยี่สิบข้อ จากนั้น ผมก็จะตั้งคำถามว่า "แล้วคุณจะสามารถทำอะไรได้อีกที่ทำให้คุณจะสามารถรู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตของคุณ" “คุณเป็นใคร?" และ "อะไรที่คุณอยากจะทำบ้าง?" อะไรประมาณนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า "การเขียน" ไม่ได้มีไว้เฉพาะกับผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนเท่านั้น ในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ แต่ "การเขียน" มีไว้เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาส "ตอกย้ำ" สิ่งที่พวกเขากำลังคิดกำลังรู้สึกให้เกิดความ "คมชัด" หนักแน่นมากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้มันฟุ้งลอยหายกลับไปในอากาศเสียก่อนต่างหาก ในเบื้องต้นผมยอมรับว่าผมไม่ค่อยแน่ใจในสมมติฐานนี้ เพราะผมเองก็เผลอไปเชื่อว่า "คนไทยไม่ชอบอ่านไม่ชอบเขียน" เหมือนกันแต่เมื่อได้ลองนำมาใช้จริงๆ ในเวิร์กช็อป
ผมพบว่า "การเขียน" ได้ช่วยทำให้ "กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" ของผู้คนนั้น เกิดความหนักแน่นมั่นคงมากขึ้นได้จริง การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นลงไปในสมุดบันทึกการเดินทางของพวกเขาแต่ละคนนั้นได้ช่วยทำให้สิ่งที่เขาคิดและรู้สึกนั้นเป็นรูปธรรมขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง การก่อเกิดเป็นตัวอักษรที่เกิดจากปลายปากกาของแต่ละคนในสภาวะที่พวกเขากำลัง "ดำรงอยู่" ในขณะนั้นได้ทำให้เกิด "เส้นทางใหม่" ที่ชัดเจนมากในสมองของแต่ละคนไม่มีอะไรที่จะทำให้ "ความคิดของคุณ" ชัดเจนหนักแน่นได้อย่างง่ายๆ และรวดเร็วที่สุดมากไปกว่า "การเขียน" ด้วย "มือของคุณเอง" แบบนี้อีกแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น