วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

สุนทรียสนทนา



สุนทรียสนทนา
โดย
อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู
ศิลปะแห่งการสนทนา
การสนทนาที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้
ที่นำการสนทนามาเทียบเคียงกับการเรียนรู้ ก็เพราะมองว่าการเรียนรู้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่ง เมื่อชีวิตคือองค์กรที่จัดองค์กรตัวเองอย่างเป็นเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้
ถ้าเราเป็นคนละเอียดอ่อน และเมื่อมีโอกาสอยู่ในวงสนทนา ลองถอยตัวเองออกจากฐานะของผู้เข้าร่วม มาเป็นผู้สังเกตการณ์ เมื่อสังเกตดูการสนทนาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ของคนทั่วไปในสังคมปัจจุบันนี้ และลองประมวลข้อสรุปออกมาสิว่า มันจะบอกอะไรกับเราบ้าง?
ผมเองได้ลองสังเกตดูและได้ทำบันทึกไว้ดังนี้ หนึ่ง ในวงสนทนาจริงๆ แล้วไม่ค่อยมีใครฟังใคร ยิ่งถ้ากินเหล้าคุยกันด้วยแล้ว จะเกิดอาการต่างคนต่างพูดเลยด้วยซ้ำ และในกรณีที่ยังฟังกันบ้าง การฟังก็เพื่อจะเก็บวลีหรือถ้อยคำที่เข้าทาง หรือสอดคล้องกับความคิดและมุมมองของตน และก็จะสอดแทรกเข้ามาพล่ามในเรื่องที่ตนเองอยากจะพูดเลยทีเดียว อันนี้ก็เป็นเหตุผลนะครับว่า ทำไม่งานสังคมจึงเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย ไม่มีใครเรียนรู้อะไรจากใคร ไม่มีความอิ่มเอมใจอันเกิดจากการสนทนาที่แท้จริง อย่างดีที่สุดก็ทำได้แค่อวดมั่งมีและอวดเก่งเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านี้
โบห์มเองก็เคยพูดเรื่อง Dialogue ระดับโลกที่องค์กรระดับโลก เช่นสหประชาชาติชอบใช้ โบห์มตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ Dialogue ในความหมายของโบห์ม หากเป็นการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยที่หลักการ มุมมอง โลกทัศน์ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เลย ปัญหาจึงมิอาจแก้ไขได้ เพราะตัวปัญหาหลักคือมุมมองและโลกทัศน์ที่แข็งตัวยังดำรงอยู่อย่างถาวรโดยไม่แปรเปลี่ยน
เพราะฉะนั้น การสนทนาเพื่อขายความคิดให้คนอื่นมาคล้อยตามความคิดของตน จึงไม่ใช่การสนทนาแบบโบห์ม การสนทนาแบบโบห์มผู้เข้าร่วมต้องเปิดใจ พร้อมจะเปลี่ยนมุมมองและสมมุติฐานอย่างกล้าหาญและหฤหรรษ์
การฟังอย่างมีคุณภาพ
การปล่อยให้เสียงและความเป็นตัวตนทั้งหมดของผู้อื่นเข้ามาในตนนั้นก็คือช่วงหลับและตื่นขึ้นเพื่อจะรวบรวมประมวล สร้างความหมายให้กับสิ่งที่ฟังเป็นช่วงตื่น ในการฟังจะมีช่วงหลับ-ตื่น นี้สลับกันไปอย่างมีศิลปะ
แต่ในการฟังบ่อยครั้งเราจะหลุดลอยไปในโลกของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งอารมณ์หรือความคิดก็ตาม บางทีเครื่องแต่งกายของคู่สนทนาสักชิ้นอาจจะทำให้เราระลึกถึงความทรงจำบางอย่าง
2
และเราก็ลอยละล่องไปกับความทรงจำนั้น บางทีถ้อยคำบางคำ ทำให้เราเพลิดไปกับความคิดของเราเองอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว
เราจะหลุดออกมาจากโลกของเราเองได้อย่างไร เพื่อยินยอมและซึมซับโลกของผู้อื่นเข้ามา ทั้งเนื้อหาและรูปลักษณ์ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความสั่นไหวภายในทั้งมวลของผู้พูด
ด้วยเหตุนี้ การฟังจึงเป็นทั้งศิลปะพื้นฐานและเป็นศิลปะชั้นสูง ที่เราอาจจะต้องฝึกฝนไปตลอดชีวิตเมื่อเทียบเคียงกับการปฏิบัติในศาสนาพุทธแล้ว เราจะต้องฝึกสมาธิเพื่อผ่อนคลายความว้าวุ่นของอารมณ์ต่างๆ ในใจเราให้สงบลง และถ้าฝึกได้ดีจะถึงจุดที่ “ว่าง” จากอารมณ์รบกวนทั้งหลาย และเวทีสนทนา เราต้องฝึกปัญญาคือวิปัสสนาที่เราจะว่างจากความคิดของเราเอง เพื่อรับความคิดของผู้อื่นเข้ามา
ความคิดนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ขาดเป็นห้วงๆ อย่างที่เป็นอิฐก่อสร้างหรือเป็นตัวต่อที่ใช้สำหรับสร้างอะไรต่างๆ ที่เด็กเล่นกัน ซึ่งจะเองไปต่อตรงไหนก็ได้ แต่ความคิดเป็นโครงข่ายที่มีแม่บทหรือกระบวนทัศน์กำกับอยู่ ในกระบวนทัศน์หนึ่งๆ ก็จะมีสมมุติฐานเป็นตัวรองรับอยู่ ก็ในเมื่อเรายังไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมนั้น (ถ้าการรู้แจ้งนี้มีจริง) ความคิด ความรู้ ความเข้าใจของเราทั้งหมด ก็ยังตั้งอยู่บนสมมุติฐานต่างๆ หรือ ชุดของสมมุติฐาน แต่โดยอัตโนมัติ เรามักจะไปยึดถือเอาว่าสมมุติฐานของเราเป็นสัจจะความจริง ถือเอาว่า ชุดของสมมุติฐาน ของเราเป็นสามัญสำนึก ที่คิดว่าทุกคนจะต้องรู้ และคิดว่าพยกมันเป็นฐานของสัจธรรมทั้งมวล นี่แหละคืออุปสรรคสำคัญของการฟัง ที่ทำให้เรามืดบอดต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือ ชุดแห่งสมมุติฐานของเรา
ฟังเพื่อเท่าทันตัวเอง?
มิติของการฟังอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการฟังการฟังของตัวเอง คือฟังซ้อนฟัง ฟังดูว่าตนเองนั้นฟังอย่างไร? มีคุณภาพไหม เรื่องนี้จะไปเชื่อมโยงกับหลักการอีกสองข้อของการสนทนาคือการเคารพในผู้อื่นและการไม่ตัดสิน เราสามารถเปิดมิติแห่งการตรวจสอบตัวเองไปในตัวการฟังนั้นเลยว่า เราเคารพผู้อื่นคือผู้พูดหรือไม่? เราสามารถฟังโดยไม่ตัดสินคนหรือไม่ตัดสินความได้หรือไม่ หากเพียงรับรู้ในความแตกต่างของสมมุติฐานและที่มาของความคิดนั้นๆ
เสียงที่เปล่งออกมาหรือวาจานั้น มันมาจากฐานใจและฐานแห่งอารมณ์ความรู้สึกด้วย แม้มันจะนำพาความคิดมาด้วยก็ตาม โดยที่ทุกความคิดนั้นจะมีอารมณ์ความรู้สึกกำกับมาด้วยเสมออย่างใดอย่างหนึ่ง โจ่งแจ้งหรือซ่อนแร้นแล้วแต่คนแล้วแต่กรณี เมื่อมันมากระทบเรา การฟังที่ดีคือการปล่อยให้มันเข้ามาดำรงอยู่ชั่วขณะนั้นในตัวเรา ดังเช่นการดื่นไวน์ ต้องอมไว้เล็กน้อยเพื่อซาบซ่านในรสไวน์อย่างไรอย่างนั้น และเฝ้าดูว่า เรามีปฏิกิริยากับเสียงของคนอื่นหรือไม่อย่างไร? รุนแรงหรือหนักเบาอย่างไร? และเมื่อ
3
รู้เท่าทันแล้ว ต่อๆ ไปก็ค่อยๆ ฝึกที่จะฟังอย่างปราศจากปฏิกริยา ฟังอย่างที่ให้คนๆ นั้นเข้ามาดำรงอยู่ภายในตัวเรา นั้นคือสุดยอดแห่งการฟัง
ผมได้ยินมาด้วยว่า ให้ฟังอย่างที่ถ้อยคำของคนอื่น เข้ามาปรับเปลี่ยนความเป็นไปภายในของตัวเรา ก็ถ้อยคำ เรื่องเล่า อุปไมยอุปมา มีส่วนในการสร้างโลกภายในที่เราใช้ในการมองโลกภายนอก ถ้อยคำ เรื่องเล่า อุปไมยอุปมา ที่ฟังมาอย่างดี อย่างเต็มเปี่ยม ก็อาจสามารถเปลี่ยนโลกภายในของเรา ซึ่งมีมนต์อำนาจในการเปลี่ยนมุมมองของเราเกี่ยวกับการมองโลกภายนอกด้วย ในการเรียนรู้นั้น เราต้องเปลือยตัวตนของเราออก ในความเป็นไปได้แห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงจะมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง นั้นเอง
การฟังอย่างเป็นกระจกเงา แก้ปัญหาเมื่อสัมพันธ์กับคนที่มีอารมณ์ลบ
เป็นความอิ่มเอมใจอย่างหนึ่ง เมื่อได้รับทราบว่าการฝึกอบรมก่อให้เกิดผล เนื่องด้วยในโครงการ “หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่” ซึ่งรักษาโรคหัวใจอย่างเป็นองค์รวมนั้น เราได้ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการความเครียดมาเป็นอันดับหนึ่ง นำเอาการฝึกสติในชีวิตประจำวันเข้ามาเพิ่มคุณภาพให้ผู้เข้าร่วมได้บ่มเพาะอารมณ์บวก ดุจดังคนสวนที่รดน้ำพรวนดินอารมณ์บวกทั้งหลาย เช่น ความรัก ความแจ่มใส ความมีพลังชีวิต เป็นต้น และให้พยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ลบ เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด และอื่นๆ
การอบรมเช่นนี้ คนไข้โรคหัวใจซึ่งเป็นคนแบบเอ (โกรธง่าย ก้าวร้าว จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ มองเห็นคนอื่นเป็นต้นเหตุของปัญหา โดยมักจะมองไม่เห็นข้อจำกัดของตนเอง) หลายต่อหลายคนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ ๑๘๐ องศา คือกลับลำบุคลิกภาพเลยทีเดียว พวกเขากลับไปขออภัยเพื่อนและญาติมิตรที่เคยระเบิดอารมณ์ใส่โดยปราศจากเหตุผลที่ดีพอ และสามารถหยุดปฏิกิริยาแบบฉับพลันที่มีต่อคนอื่นๆ ในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาจจะใช้วิธีเก็บความรู้สึกเอาไว้ หรือเดินเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์อันล่อแหลม ทำให้สามารถลดการแสดงอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดในทันทีทันใดได้มากขึ้น บางคนไปไกลกว่านั้นโดยสามารถหยุดโกรธก่อนโกรธและเอาความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจเข้ามาแทนที่ หลายคนเริ่มมองความคับแคบและข้อผิดพลาดของตนเอง ท่านหนึ่งที่ทะเลาะกับภรรยาจนเกือบจะเลิกกันแล้ว กลับมาเห็นความงามของภรรยา และเนื่องจากสุขภาพฟื้นฟูดีขึ้น ความสัมพันธ์แบบรักใคร่ก็กลับคืนมาดังเดิม สรุปแล้วคนไข้หลายคนฟื้นคืนสุขภาพ ความเป็นปกติ ความแจ่มใสปลอดโปร่ง ทั้งกายและใจกลับคืนมา
เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ผมได้รับเชิญไปฝึกอบรมเรื่องศิลปะการจัดการเรียนการสอนให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการนำเสนอเรื่องการใช้ปัญญาอารมณ์ในศิลปะการสอนนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งยกประเด็นขึ้นมาว่า เราอาจจะจัดการกับอารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิดของตนเองได้ แต่
4
ถ้าเราไปพบความโกรธ ความหงุดหงิดของคนอื่นขึ้นมาล่ะ เราจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่สามารถเดินหนีออกไปได้ แต่จะต้องเผชิญหน้ากันเพื่อจัดการงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ทีมฝึกอบรมที่มาจากสถาบันขวัญเมืองและเสมสิกขาลัย ได้เสนอแนวทางแห่งการฟังอย่างเป็นกระจกเงาเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น แทนที่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างก้าวร้าว การฟังอย่างเป็นกระจกเงาก็คือการฟังแต่ละช่วงของการพูดอย่างระเบิดอารมณ์ (หรือไม่ระเบิดอารมณ์) ของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วพูดกลับไปว่า เราได้ยินเขาพูดอย่างไร ในความเข้าใจของเรา โดยให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถแก้ไขได้ว่าเราสรุปความถูกต้องหรือเปล่า เช่น
• อีกฝ่ายหนึ่ง “คุณย้ายโต๊ะนี้ได้อย่างไร โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า”
• เราก็ตอบสนองกลับไปว่า “ผมได้ยินว่า ผมย้ายโต๊ะนี้ได้อย่างไร โดยไม่บอกคุณล่วงหน้า” ฯลฯ ไปตลอดการสนทนา

วิธีนี้ได้ผลเกือบจะทุกกรณี ทั้งนี้เพราะ ประการแรก อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าคุณได้ฟังเขาหรือเธอเป็นอย่างดี โดยรับรู้ทุกถ้อยกระทงความ และก็เมื่อถึงเวลาที่คุณจะพูด เขาหรือเธอก็มีแนวโน้มที่จะรับฟังคุณเป็นอย่างดีเช่นกัน
ประการที่สอง ผู้พูดมีโอกาสได้รับฟังสิ่งที่ตนพูดโดยขบวนการฟังอย่างเป็นกระจกเงานั้น ทำให้เขาหรือเธอมีโอกาสตั้งสติ และรับรู้ว่าตนเองกำลังพูดอะไร ขบวนการเช่นนี้จะมีผลต่อการลดความรุนแรงของอารมณ์ของอีกฝ่ายลงได้มาก
ประการที่สาม ฝ่ายผู้ฟังก็จะได้ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังอย่างรวบรัด และฟังอย่างด่วนสรุปใจความอย่างที่ลากความเข้าข้างตนเอง ที่ยิ่งจะทำให้ปัญหาการสื่อสารย่ำแย่ลงไปอีก
ประการที่สี่ เมื่อการฟังอย่างนี้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มตั้งสติได้นั้น คุณภาพการฟังจะยิ่งลุ่มลึกและละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ทำให้มองก้าวไปถึงบริบทหรือสภาพแวดล้อมความเป็นไปของอีกฝ่ายหนึ่ง ข้อจำกัดหรือสถานการณ์อันบีบคั้นของอีกฝ่ายหนึ่ง จะปรากฏขึ้นในการรับรู้ นอกจากนี้หากฝึกฝนตนเองอย่างแยบคายขึ้นเสมอๆ ก็จะปรับคลื่นอันละเอียดอ่อนกว่าคำพูดและภาษาท่าทางนั้นๆ นี้จึงนับเป็นสุดยอดของการฟัง คืออาจจะทำให้ล่วงรู้ถึงความปรารถนาและความคับข้องใจของอีกฝ่ายหนึ่ง
ในโลกที่เราให้คุณค่ากับหน้าตาและภาพลักษณ์ภาพนอกมากกว่าคุณค่าภายในนั้น เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ผิวๆ ของความเป็นจริง เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ความหมายของถ้อยคำแบบแบนๆ ตื้นๆ โดยรวบเข้าไปในความจำได้หมายรู้ในอดีตของเรา อันเป็นความทรงจำที่ตายซากขาดชีวิตชีวา เป็นอาการลงร่อง เป็นเครื่องจักรอันปราศจากวิญญาณและเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ความหมายใหม่ๆ แง่มุมใหม่ของถ้อยคำ ยังไม่รวมถึงการก่อประกอบถ้อยคำอย่างมีวรรณศิลป์ อันอาจก่อเกิดจินตนาการที่ทะลุทะลวง
5
กำแพงที่ขวางกั้นความเข้าใจทั้งหลาย โดยยังไม่ได้พูดถึงคลื่นหัวใจที่อาจเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายๆ ในชั่วขณะที่ใจเปิดให้กันและกัน เราทราบถึงความปรารถนาและความคับข้องใจที่เป็นกุญแจไปสู่ความเข้าใจส่วนในสุด
การเป็นอย่างเป็นกระจกเงานี้ ไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะกรณีคนห่างตัวเท่านั้น แม้แต่ในความสัมพันธ์ของคู่รักและเพื่อนสนิทที่มีปัญหาความขัดแย้งหรือความร้าวฉาน ตลอดจนแม้ในกรณีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เริ่มจะห่างเหินด้วยเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ให้กระชับมั่นยิ่งขึ้น การฟังอย่างเป็นกระจกเงานี้ก็จะช่วยได้มาก...
สุนทรียสนทนา
เคารพ (Respecting)
จากสุนทรียสนทนาคืนวันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗ อันเป็นวงสุนทรียสนทนาครั้งที่สี่ของชุมชนเชียงราย ผมก็กลับไปอ่าน Dialogue and the Art of Thinking Together โดยวิลเลียม ไอแซคส์ (William Isaacs) ในบทที่ว่าด้วยการให้ความเคารพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสี่ประการที่ไอแซคส์พูดถึงในการสนทนาคือ Listening, Respect, Suspending, และ Voicing ซึ่งผมจะพยายามนำมาเสนอให้พวกเราได้อ่านกัน โดยสำนวนของผมเอง แต่วันนี้จะพุ่งเป้าไปเรื่องความเคารพที่ประสบในวงสนทนาวันเสาร์ที่ผ่านมาและที่ไอแซคส์ได้เขียนเสนอไว้
หมออิทธิพงษ์ ศัลยแพทย์ รพ.เชียงราย ได้เล่าในวงสนทนาว่า วันนั้น หมอพยายามฟังอีกแบบโดยไม่มองหน้าคน หากพยายามฟังเสียงอย่างตั้งใจ และไม่ได้ฟังเพียงถ้อยคำ แต่รับรู้ทั้งหมดของเสียง ให้
6
เสียงนั้นเข้ามาอยู่ภายในตัวตน ทำให้พึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้ รู้สึกว่าการฟังของตนเองลุ่มลึกยิ่งขึ้น ไอแซคส์ พูดถึงเรื่องการเคารพ คือการฟังทั้งหมดอย่างไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะที่ชอบหรือไม่ชอบ หากฟังโดยมีปฏิกิริยาให้น้อยที่สุด เขาเล่าเรื่องกรรมกรคนหนึ่งในวงสนทนา ที่บอกว่าเขาฟังอย่างกับเอากรวยมากรอกหูเขา รับมาทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วสามวันต่อมา เรื่องต่างๆ ที่ฟังมาก็ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราวที่ทำให้เกิดการคลิกและคลี่บานขึ้นในใจ
คุณเมธาวี พูดเรื่องการฟังที่เหมือนกับเข้าไปนั่งในป่าใหญ่ เห็นใบไม่ร่วงหล่น เห็นสัตว์กินกันไม่ได้พุ่งความรู้สึกเข้าไป อย่างเป็นผู้กินหรือผู้ถูกกิน เฝ้าดูอยู่ เหมือนกับมีอีกตัวตนหนึ่งถอยออกมาดูอยู่อย่างมีระยะ ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่มีความสงบระดับหนึ่ง ไม่มีอารมณ์แบบเอาตัวเข้าไปร่วมเหมือนเมื่อก่อน
หลักการสำคัญของไอแซคส์ที่กล่าวในตอนต้นนั้นก็คือ การพยายามมองสิ่งต่างๆ ว่ามีการถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด หลักการแห่งการฟังทั้งหมด โดยไม่แยกแยะกลั่นกรองเสียก่อน ก็มาจากทัศนะหรือมุมมองเช่นนี้ ในถ้อยคำของไอแซคส์เอง เขากล่าวว่า
“การเคารพ ในแง่หนึ่งก็คือการมองหาสิ่งสูงส่งที่สุด ดีที่สุด ในตัวบุคคลคนหนึ่ง ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างกับว่าเป็นความลี้ลับที่เราไม่มีวันเข้าใจได้โดยตลอด พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา”
และในความเป็นศิษย์สำนัก เดวิด โบห์ม (David Bohm) เขาก็ร่ายยาวต่อไปว่าโลกทัศน์แบบนิวตัน ที่มีอุปไมยอุปมาว่าโลกและสิ่งต่างๆ รวมถึงมนุษย์ด้วยเป็นเครื่องจักรอย่างไร เป็นชิ้นส่วนที่แยกออกจากกับอยางไร และในโลกทัศน์แบบฟิสิกส์ใหม่ โลก จักรวาล มนุษย์ ถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกันอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก และทัศนะใหม่นี้เอง ทำให้นักทฤษฎีฟิสิกส์แบบโบห์ม ได้คิดค้นการสนทนาในรูปแบบหนึ่ง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ไอแซคส์เล่าเรื่อง ปีเตอร์ การ์เร็ต (Peter Garrett) ซึ่งร่วมพัฒนาการสนทนาร่วมกับ เดวิด โบห์ม เพื่อนำไปใช้ในประเทศอังกฤษ ในอังกฤษนั้น การ์เร็ตทำงานกับคนคุกที่ต้องโทษเพราะเป็นอาชญากรที่เข่นฆ่าผู้คนและข่มขืนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เมื่อไอแซคส์ถามเขาว่า เขาได้เรียนรู้อะไรในงานของเขา เขาตอบว่า “การสืบค้นกับความรุนแรงไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้”
ผมได้พบเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้จากหนังสือ Destructive Emotions อันเป็นเรื่องราวที่องค์ดะไลลามะสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกและค้นพบร่วมกันไปกับหนังสือเล่มนั้นว่า สมองส่วนหน้าซีกซ้าย ซึ่งทำงานเมื่อเราอยู่ในวิถีแห่งการสืบค้น เปิดใจอยากรู้อยากเห็นนั้น อมิกดาลา (Amygdala) หรือส่วนหนึ่งในสมองส่วนกลาง อันเป็นที่ตั้งของอารมณ์ลบ ก็จะหยุดทำงาน หรือทำงานน้อยลง อมิกดาลานี้เป็นกลไกที่เมื่อเกิดอารมณ์ลบแล้ว เราก็จะถูกจำขังอยู่ในร่องอารมณ์ ที่เราจะไม่เป็น
7
อิสระหากถูกบงการด้วยอารมณ์ ในกรณีของความโกรธ มันก็คือการใช้ความรุนแรงนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การคิดใคร่ครวญจึงเป็นยาวิเศษ ที่จะเยียวยาแก้ไขความรุนแรงในตัวคน เมื่อเราหาวิธีปลูกฝังอุปนิสัยการคิดใคร่ครวญในเรื่องราวต่างๆ ได้ในตัวคน คนๆ นั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นคนรุนแรงน้อยลง
เมื่อมองเช่นนี้แล้ว การสืบค้นอาจจะเป็นด้านหนึ่งของวิปัสสนากรรมฐานหรือไม่? หรือโยนิโสมนสิการ ที่เจ้าคุณประยุทธพูดถึง เมื่อสืบค้น เราจะไม่มีที่ทางให้เหลือสำหรับความรุนแรง หรือแม้กระทั่งอารมณ์ลบๆ ทั้งหลาย
อีกด้านหนึ่งของความเคารพ ก็คือเรื่องของความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของผู้คน มันก็แปลกที่ว่าเมื่อเรารู้สึกอย่างไรกับคนๆ หนึ่ง และถ้าเราเป็นหลายคน ก็จะมีพลังหล่อหลอมคนๆ นั้นให้เป็นไป
อีกด้านหนึ่งของความเคารพ ก็คือเรื่องของความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของผู้คน มันก็แปลกที่ว่าเมื่อเรารู้สึกอย่างไรกับคนๆ หนึ่ง และถ้าเราเป็นหลายคน ก็จะมีพลังหล่อหลอมคนๆ นั้นให้เป็นไป
อย่างแถวๆ อำเภอใกล้ตัวเมืองเชียงรายแห่งหนึ่ง เยาวชนถูกมองว่าไม่ได้เรื่อง ล้มเหลวในชีวิต และเป็นพวกก่อปัญหา แล้วพวกเขาก็กลายเป็นเช่นนั้นจริงๆ ต่อมาเมื่อมีการพูดคุยแบบหันหน้าเข้าหากันที่คณะทำงานของหมอไพฑูรย์ลองไปจัดในหมู่บ้าน ได้เกิดความเข้าใจใหม่ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มีความเคารพกันมากขึ้น เห็นคุณค่าในกันและกันมากขึ้น ความรุนแรงในเยาวชนก็เบาบางลง ว่ากันว่าเด็กในชุมชนนี้มีหัวหน้าแก๊งซามูไรอยู่ด้วยซ้ำไป และหัวหน้าแก๊งคนนั้นก็กลับตัวกลับใจ เพราะเริ่มเห็นคุณค่าในตนเอง
ถ้าเราเลี้ยงลูก ก็จะอยู่ที่ศรัทธาของเราที่มีต่อเขา บางคนอาจจะถามว่าเพียงเท่านี้หรือ ใช่ครับ เพียงเท่านี้เอง แต่เพียงเท่านี้ มันกลับทำได้ยากที่สุด เพราะใจของเรามักหล่นลงไปในร่องอารมณ์ ไปสู่ความกลัวความวิตกกังวลและความคลางแคลงใจ และเราก็ไม่สามารถศรัทธาในลูกของเรา สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปัญหา
อีกเรื่องเล่าหนึ่ง ที่อาจเปลี่ยนตัวตนและมิติการมองโลกของเราได้ เป็นเรื่องที่ วิลเลียม ไอแซคส์ เอามาเล่าไว้ดังนี้
เป็นเรื่องวัดคริสต์หรือยิวก็ไม่ทราบ มีนักบวชอยู่ห้าหกคน อยู่ๆ มาชาวบ้านเริ่มไม่นิยมวัดแห่งนี้ ก็พากันห่างเหิน ไม่มาเข้าวัด ไม่มาสนับสนุนเหมือนเมื่อครั้งก่อน พวกเขาก็เริ่มวิตกกังวล ต่อมามีพระอาจารย์คล้ายกับฝ่ายปฏิบัติภาวนามาพำนัก ณ กุฏิปลายวัด ซึ่งท่านจะมาเป็นครั้งคราว อาจจะสองสามปี
8
ต่อครั้ง ท่านก็สังเกตเป็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อท่านจะลาจาก ท่านก็บอกแก่พวกนักบวชว่า ในหมู่พวกคุณนี้ มีนักบุญอยู่คนหนึ่งนะ เท่านั้นเองจริงๆ
หลังจากนั้น พวกเขาก็ปฏิบัติต่อกันอย่างดีเยี่ยม และก็รู้สึกดีกับตัวเองมากๆ ด้วย เพราะคนใดคนหนึ่งนั้น อาจจะเป็นตัวเองก็ได้ ในบรรยากาศที่ปฏิบัติต่อกันเช่นนั้นเอง บรรยากาศของวัดก็เปลี่ยนไป ความเป็นไปต่างๆ ของวัดก็เปลี่ยนไป จนชาวบ้านสังเกตและสัมผัสได้ เป็นความรู้สึกดีๆ บางอย่าง แล้วชาวบ้านก็เริ่มกลับเข้าวัด และสนับสนุนวัดเหมือนเดิม
ห้อยแขวน
เรื่องนี้เป็นหลักการที่สามของ Dialogue ห้อยแขวนหมายถึงห้อยแขวนทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะห้อยแขวนการตัดสินคน ตัดสินความ เมื่อได้ฟังคนอื่นพูด ตลอดจนเวลาที่ดำรงตนอยู่ในการสนทนาทั้งหมด เปิดเนื้อที่ให้กับความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของความเหลื่อมซ้อนแห่งมุมมอง การมองข้ามพ้นมุมมองอันจำกัดอย่างเป็นอัตโนมัติที่ตนถือครองอยู่ การข้ามพ้นคู่ขัดแย้งที่เป็นขั้วทั้งหลาย เป็นอิสระจากการมองเป็นคู่ขัดแย้งทั้งปวง เปิดมุมมองใหม่ที่อาจรวบความเข้มแข็งในคู่ขัดแย้งเข้ามาไว้ในมุมมองเดียวกัน ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น
มันเป็นเรื่องราวของการตื่นขึ้นของตัวรู้ด้วย การตื่นขึ้นของสติ ที่ระลึกได้ว่า มีหนทางที่ดีกว่าการกระโดดเข้าไปในการตัดสินคน ตัดสินความอย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะนั่นคือการถือครองหรือถูกครอง (กันแน่) โดยทัศนคติแบบเดิม มุมมองแบบเดิม ที่เป็นไปอย่างอัตโนมัติและไม่มีตัวเลือก ไปสู่การเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นไปได้ ด้วยการระลึกขึ้นมาว่า “เรามีตัวเลือก เรามีทางเลือก!”
ในการฟังแบบมีคุณภาพก็ดี ในการเคารพผู้อื่นก็ดี ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้น จากสำนึกของกลุ่มคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ เสริมส่งกันให้เกิดคลื่นเหนี่ยวนำจนทำให้จิตพลอยเป็นสมาธิ เกิดเป็นคนอื่นอีกคนซ้อนขึ้นมา รับรู้รับทราบความเป็นไปของอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเดียวกันนั่นเอง ว่าฟังอย่างไร? เคารพผู้อื่นเพียงพอไหม? และเราสามารถห้อยแขวนการตัดสินความได้หรือไม่?
ในขณะจิตที่เราประวิงเวลาแห่งการตัดสินต่างๆ นั่นเอง พื้นที่แห่งการเป็นไปได้ พื้นที่แห่งทางเลือก แห่งมุมมองและความเข้าใจใหม่ได้เปิดออก เป็นพื้นที่แห่งปัญญา การห้อยแขวนได้ทำให้เกิดสมาธิ และความตั้งใจที่จะห้อยแขวน เป็นตัวก่อให้เกิดความเป็นไปได้แห่งปัญญา
ที่จริงทั้งการฟัง ความเคารพและการห้อยแขวนการตัดสิน ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงส่งเสริมกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ ก่อให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญา คือการฟังเปิดเนื้อที่ให้กับการเคารพ เพราะเมื่อฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นสติปัญญาและคุณงามความดีของผู้คนมากขึ้น การเคารพย่อมทำให้การห้อยแขวนเป็นไป
9
ได้มากขึ้น การห้อยแขวนก็ทำให้การเคารพเป็นไปได้ง่ายขึ้น และการฟังก็จะดียิ่งขึ้นด้วย ด้วยอาการอย่างนี้เอง ที่ทั้ง ๓ หลักการสามารถเสริมส่งกันให้ต่างก็มีคุณภาพลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้
อีกประการหนึ่ง ในการวิจัยทางสมองที่ได้พูดถึงแล้ว การใคร่ครวญที่เกิดขึ้นในสมองที่ส่วนหน้าย่อมทำให้กริยาแห่งอมิกดาลาหรือร่องอารมณ์ ลดทอนหรือยุติลงในช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญนั้น ถ้าฝึกฝนการห้อยแขวนจนทำได้จริง ก็จะเป็นคู่ปฏิปักษ์กับการตกร่องอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของอารมณ์ลบอย่างเป็นอัตโนมัติ กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เมื่อเราตัดสินคน ตัดสินความ เราได้ตกลงไปในร่องอารมณ์ตรงกันข้ามกับการห้อยแขวนการตัดสินทั้งปวงกลับไปกระตุ้นความคิดใคร่ครวญ หรือกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า เป็นการเบรค หรือหยุดยั้งโอกาสที่ร่องอารมณ์ หรือสมองส่วนอมิกดาลาที่จะกระโดดเข้ามา นำพาเราเข้าสู่การถูกจำขังในร่องอารมณ์นั้น
งานสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ หรือศิลปิน จะต้องทำงานกับการห้อยแขวนเช่นนี้ เพราะการห้อยแขวนเปิดโอกาสให้มีช่องว่าง พื้นที่ว่าง ความว่าง แห่งการก่อเกิดความคิดใหม่ มุมมองใหม่ หรือนวัตกรรมทางความคิด เป็นรอยต่อระหว่างสำนึกรู้กับจิตไร้สำนึกที่มาบรรจบ และร่วมงานกันได้อย่างสร้างสรรค์ การห้อยแขวนคือช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะ ในเวลาปกติ เราอาจจะรู้สึกถึงความคับข้องใจ รู้สึกว่าตัน คนที่เคยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์มามากจะรู้และผ่อนคลายตนเอง ละวางจากงานที่ทำอยู่ แล้วจิตไร้สำนึกจะทำงานของมันเอง ในที่สุดคุณภาพใหม่ มุมมองใหม่ก็จะโผล่ปรากฏ ที่เราเรียกว่าญาณทัศนะหรือการรู้แจ้งน้อยๆ ทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้เอง ที่งานในวงสนทนาจะเกี่ยวร้อยกับงานในชีวิตปกติของผู้คน เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และคุณภาพแห่งการฟังก็ดี ความเคารพก็ดี การรู้จักห้อยแขวนการตัดสินก็ดี จะติดตัวเราไปในชีวิตการงาน และด้านอื่นๆ ของเราอย่างไม่รู้ตัว เป็นอัตโนมัติ หากแต่ว่า อัตโนมัตินั้นได้บรรจุการตื่นรู้เข้ามาด้วย เราได้ฝึกฝนการตื่นรู้ขึ้นมาอย่างเป็นอัตโนมัติแล้ว และการตื่นรู้นั้นก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราตลอดเวลาแห่งลมหายใจเข้าออก
เสียงของเรา
เสียงหรือถ้อยคำ เราจะให้ความหมายมันอย่างไร? เสียงที่ออกมาจากคุณเป็นเสียงพร่ำบ่น หรือเป็นการแสดงออกจากความปรารถนาส่วนลึก หรือทำไมในบางสถานที่ ในบางบริบทเสียงของเราไม่ปรากฏ ข้อสังเกตของผมกับงานเขียนของทั้ง วิลเลียม ไอแซคส์ และ มากาเร็ต วีตเลย์ นั้นเหมือนคลำหาอะไรบางอย่างในที่มืด ความรู้มิได้เป็นอะไรที่ตายตัว หากคลี่คลายออกมา ณ ขณะนั้น ไม่ได้เป็นความรู้ที่ผ่านการจดจำมาเล่า แต่เป็นการสัมผัสอะไรบางอย่างจากประสบการณ์ ที่ค่อยๆ ลำเลียงออกมา ณ ความรู้สึกในขณะนั้นๆ เมื่อผู้เขียนสัมผัสกับมัน มันเป็นเหมือนความยุ่งเหยิงที่เป็นระเบียบ เมื่ออ่านงานของเขาทั้งสองแล้ว ไม่ได้เป็นว่า อะไรคืออะไร หนึ่งสองสามอย่างนั้นเลย แต่มันกลับนำพาเราไปได้ไกล
10
กว่า ลึกกว่า สำรวจค้นหาไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่แปลกประหลาดอะไรที่เมื่อได้ไปใช้สถานที่ของโรงเรียนสามัคคีตั้งวงเสวนา ผู้อำนวยการที่มาร่วมด้วยตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละคนพูดเหมือนกวีนิพนธ์
อีกด้านหนึ่งของนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งคือ เปาโล แฟร์ ได้พูดถึงวัฒนธรรมแห่งความเงียบ หรือวัฒนธรรมแห่งการยอมจำนน อันเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ถูกกดขี่ ถูกกำราบให้อยู่ในโครงสร้างแห่งอำนาจ เพราะการพูดอาจจะนำมาซึ่งภัยพิบัติได้ ในการตั้งวงสนทนาหลายครั้งหลายหน อุปสรรคแรกสุดก็คือการฝ่าข้ามวัฒนธรรมแห่งความเงียบนี้ออกไป
แต่สำหรับไอแซคส์ คนพูดมากก็อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะเขาเพียงท่องบ่นเรื่องราวในอดีต เขาไม่ได้ฟังเสียงภายในตัวของเขาเอง เทปม้วนเก่าในหัวของเขาดังกลบเสียงใดๆ ที่ลึกกว่านั้น ที่เขาหรือเธอจะได้ยิน
แต่สำหรับคนที่เงียบงัน เป็นไปได้ที่เมื่อได้ยินเสียงเพรียกจากภายในให้พูด แต่เมื่อเขาหรือเธอตัดสินใจที่จะไม่พูด เสียงภายในก็ค่อยๆ แผ่วลงไป จนในที่สุดเราก็อาจลืมเลือนไป หรือมันอาจจะไม่ย่างกรายเข้ามาในสำนึกของเราได้อีกง่ายๆ แต่เมื่อพูดออกไป มันกลับจะพรั่งพรูออกมา เมื่อนั้นเราจะได้สัมผัสถึงพลังถ้อยคำของเราเอง
เสียงในภาษาตะวันออกกลางโบราณก็คือ abracadabra ซึ่ง abra แปลว่าสร้าง ca แปลว่า as และ dabra แปลว่า speak ซึ่งแปลรวมว่า “I create as I speak” นี่คือปาฏิหาริย์ ถ้อยคำคือพลัง ถ้อยคำสามารถสร้างโลกได้
ยอช เลกี้ (George Lakey) เจ้าสำนักสร้างสรรค์ชุมชน ปรมาจารย์ของนักฝึกอบรมสายเสมสิกขาลัยพูดเรื่องนี้โดยใช้อุปไมยอุปมาของไข่แดงกับไข่ขาว ว่าคนเราหากจมจ่อมอยู่ในไข่ขาว คือความคุ้นเคย (ไข่แดงคือตัวเรา) เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ความสะดวกสบาย ความคุ้นชิน เท่ากับการไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย หลายครั้งที่บอกเล่าเรื่องนี้ให้ผู้เข้าร่วมในวงเสวนาอย่างขึงขัง และเชื้อเชิญให้ก้าวออกมาจากไข่ขาวเพื่อการเรียนรู้ ก็มีหลายต่อหลายคนเปิดเสียงของตัวเองออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกๆ
ทำอย่างไร? เสียงของเราจึงไม่ใช่เพียงการไปจำเขามาพูด
ผมเคยไปสอนหนังสือที่ราชภัฎเชียงราย ในเรื่องการเขียน โดยการใช้สนทนาเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่นำสู่การเขียน ในการสนทนาแรกๆ ที่เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดทุกคนนั้น ปรากฏว่าพวกเขาพูดเหมือนๆ กันหมด คือคนต่อๆ มาก็จะก๊อปปี้คนแรกๆ ที่ผ่านมา แล้วนี่แปลว่าอะไร แปลว่าเราไม่ได้คุยอะไรกันเลย บางทีในวงสนทนา เราจะได้ยินเสียงคนพูดเหมือนประกาศข่าว จะเป็นข่าวอะไรก็ตาม แต่สุ้มเสียงมันเป็นการประกาศข่าวดีๆ นี่เอง ไม่ได้เป็นการหันหน้าเข้าหากัน และการพูดคุยกันแน่ๆ
11
ไอแซคส์ เล่าให้ฟังถึงเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งในเวลานี้เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว เมื่อได้มีการพบปะประชุมกัน เวลาว่างๆ เพื่อคนนี้จะไปนั่งที่เปียโนเล่นเพลงต่างๆ เวลานั้นจะมีคนมาร่วมฟังบ้าง ครั้งหนึ่ง มีคนแก่คนหนึ่งเข้ามาถามว่า เล่นเพลงอะไร เขาตอบไปว่ามูนรีเวอร์ คนแก่บอกว่าไม่ใช่ เพลงก่อนหน้านั้นน่ะ เขาบอกว่าเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง คนแก่คนนั้นบอกว่า มัวแต่ไปเล่นเพลงของคนอื่นอยู่ทำไม ทำไมไม่เล่นเพลงของตัวเองเล่า? จากนั้นมา เขาก็เริ่มเล่นเพลงของตนเอง เวลานี้เขาขายซีดีได้จำนวนเป็นล้านแผ่นแล้ว ไอแซคส์เคยให้เพื่อนเล่นดนตรีของคนอื่นและดนตรีของตัวเองให้แก่วงเสวนาครั้งหนึ่งฟัง และให้หัดแยกความแตกต่างออกจากกัน การสนทนาก็คือการเปล่งเสียงของตัวเองออกมา ไม่ใช่เสียงของคนอื่น ไม่ใช่การพูดอะไรแบบใครๆ ก็พูดกันอย่างนี้เท่านั้น
อีกประสบการณ์หนึ่งที่พบเห็นเป็นประจำ คือการพบครูกับพระ เรื่องนี้คงไม่ได้หมายถึงครูและพระทุกท่านทุกคน แต่ครูและพระทุกคนอาจจะมีปัญหาเช่นนี้ได้ คือท่านจะมีสูตรในการแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะมาไม้ไหนแก้ได้หมด มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม แต่ปัญหาก็คือ คำตอบเหล่านั้น ท่านอาจจะคิดมาก่อนหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ว่ามันเป็นคำตอบอย่างตายตัว อย่างไรอย่างนั้น คนเหล่านี้ บางทีอาจจะคมคาย แต่ถ้าฟังสักครั้งสองครั้งเราก็จะรู้แล้วว่าท่านเป็นแผ่นเสียงตกร่อง หรือเป็นเทปม้วนเดิมที่เปิดหมุนวนอยู่ไม่กี่เรื่อง ท่านเหล่านี้ไม่ได้อ่อนไหวต่อบริบท หรือไม่รับรู้บริบทเอาเลย เพราะเครื่องฟังของท่านเหล่านี้คงชำรุดเสียหาย ใช้การไม่ได้มานานแล้ว นี่คือตัวอย่างของความตายแห่งภาษาและความคิด อันจะพ้นยุคสมัยไป
ที่ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งในบรรดาผู้ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนามาพอสมควรแล้ว คือทุกคนจะมีสัมผัสบางอย่าง ระหว่างคนพูดอย่างเล่นเพลงของตนเอง กับคนที่พูดอย่างเล่นเพลงคนอื่น มีความแตกต่างกันในเรื่องคลื่นหรือบรรยากาศรอบตัวคนๆ นั้น ต่อไปอาจจะมีการศึกษาภาษากายอย่างละเอียด แต่จะเห็นตรงกันว่า ใครที่เล่นตามเพลงคนอื่น ใครเป็นนักประกาศข่าว ใครเป็นคนที่พูดออกมาเหมือนตำราอันน่าเบื่อหน่าย และเราจะสัมผัสถึงความสด ความจริงใจแห่งการบอกกล่าวของคนที่พูดจากเสียงของเขาหรือเธอเอง ที่ให้ความชื่นใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสุขหรือเศร้าก็ตาม มีพลังขับเคลื่อนและสร้างโลกที่อยู่รอบๆ ตัวอันเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ...
บริโภคนิยมกับการสนทนา
การไถ่ถอนจากอำนาจของบริโภคนิยมมิใช่ทำกันได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะเข้าใจโดยพุทธิปัญญาถึงคุณและการไถ่โทษของการดำรงชีวิตอยู่ในวิถีแห่งการบริโภค แต่เราก็ไม่สามารถละเลิกการบริโภคต่างๆ และไม่สามารถสร้างสรรค์ชีวิตอันปลอดพ้นจากการบริโภคได้ อันที่จริงบริโภคนิยมเป็นอาการเสพติดชนิดหนึ่งที่เป็นแบบทั้งชีวิต ในทุกแง่มุมของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการนำไปสู่การเสพติดยาของเยาวชนที่อยู่ในโลกของบริโภคนิยมอย่างเต็มตัวให้เป็นไปได้โดยง่ายดาย
12
นักคิดที่เข้าใจปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดีคือ ไอวาน อิลลิช (Ivan Illich) ที่ได้เห็นถึงการถอดถอนอำนาจของปัจเจกบุคคลที่จะดำรงชีวิตอย่างผู้กระทำการ และหาญกล้าให้การศึกษาตนเอง เรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เขาพูดถึงระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้คิด ตัดสินใจ ออกแบบสังคม และความเป็นไปในชีวิตผู้คน เขาพูดถึงการที่สังคมได้มอบอำนาจหรือถูกฉกฉวยอำนาจไปให้กับระบบโรงเรียน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะโรงเรียนที่เยาวชนเข้าไปรับการศึกษาเท่านั้น หากหมายถึงระบบโรงเรียนในทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ที่สามัญชนถูกลิดรอนอำนาจในการคิด ตัดสินใจ และออกแบบชีวิต หากเขาจะต้องทำตามสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เห็นว่าดีงาม ปริมณฑลของชีวิตด้านต่างๆ ก็มีเช่น เศรษฐกิจ สาธารณสุข พาณิชยกรรม การศึกษา การพักผ่อน การบันเทิง สื่อสารมวลชนและอื่นๆ อีกไม่รู้จบ
แต่ลักษณะร่วมกันที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปริมณฑลของชีวิตคือ มนุษย์เปลี่ยนสภาพจากผู้คิด ตัดสินใจ ออกแบบ และกระทำการ มาเป็นผู้เสพอย่างเฉื่อยชา อิลลิชได้ยกตัวอย่างของดนตรีในหมู่บ้านที่สืบทอดมาเป็นประเพณีทั่วไป ทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก การมีวงดนตรีสองสามวงในหมู่บ้านหนึ่งๆ นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา การใช้ดนตรีและเพลงโดยชาวบ้านเล่นและร้องกันเองในกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่เมื่อมีวิทยุมีเทปเพลงเข้ามา สิ่งเหล่านี้ก็หายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสูญสิ้นไป เมื่อมนุษย์ไม่ได้กระทำ การประดิษฐ์คิดค้นพลิกแพลงก็ไม่เกิดขึ้น เรื่องอื่นๆ ในปริมณฑลอื่นๆ ก็เกิดขึ้นมาในทำนองเดียวกัน
เรื่องการสนทนาก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน ดังเพื่อนคนหนึ่งคือ แกรนด์ โอลสัน (Grand Olson) ผู้เคยมาเป็นพีซคอร์ป (Peace Corps) ในเมืองไทยเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว ณ เมืองสุพรรณบุรี ก็สามารถเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อเขามาอยู่ในฐานะอาสาสมัครสันติภาพที่เมืองสุพรรณบุรีนั้น บ้านพ่อแม่คนไทยที่เขาอยู่ด้วยเป็นชานเมืองที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีโทรทัศน์ เมื่อทานข้าวเย็นเสร็จ สมาชิกในครอบครัวขยายนั้นก็นั่งล้อมวงพูดคุยกันด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าซ และในวงสนทนานี้เองที่ทำให้เขารู้จักสังคมไทย ความโอบอ้อมอารี ความอุดหนุนเกื้อกูลกันในสภาพสังคมชนบทและมิติของพุทธธรรมที่กลมกลืนลงสู่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ในสังคมสหรัฐอเมริกาหมดไปนานแล้ว การสนทนาที่แท้จริงจะหาได้ยาก ต้องดั้นด้นหาเพื่อนที่อาจจะคุยกันได้อย่างถูกใจ แต่ไม่ได้มีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เมื่อแกรนด์กลับมาเยี่ยมเมืองไทยต่อมาเป็นลำดับ สองสามปีครั้ง เขาก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่เป็นไปในสังคมอเมริกา โทรทัศน์ได้เข้ามาจับจองใจกลางบ้าน และการสนทนาอย่างเดิมก็หายไปจากครอบครัว ทุกคนก็เริ่มยุ่งยากกับกิจการต่างๆ จนแทบไม่มีเวลาให้กับการสนทนาที่แท้จริงอีกต่อไป
เมื่อมองในแง่มุมมอง ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญา การสนทนาจะเป็นเวทีของการก่อเกิด เมื่อเวทีการสนทนาหายสาบสูญไปหรือกระพร่องกระแพร่ง ประชาชนคนสามัญก็จะขาดการเข้าร่วมในการก่อเกิด แปรเปลี่ยนและวิวัฒนาภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีกต่อไป หากกลายเป็นผู้ถูกกระทำ
13
อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเหยื่อที่กระตุ้นได้ง่ายจากสื่อโฆษณา และความคิดก็ถูกครอบงำด้วยบรรษัทข้ามชาติ อันผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีมิติอยู่ในกรอบกระบวนทัศน์เก่า อันเป็นมุมมองซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานและวิวัฒนาการของชีวิตโดยสิ้นเชิง
ถ้าพูดแบบภาษาของพวกโพสต์โมเดิร์น หมายถึงการถูกแย่งชิงวาทกรรม เมื่อปราศจากวาทกรรม ประชาชนสามัญก็ยากไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ในการปรับเปลี่ยนตนเองและสังคม
ดังนั้น เราต้องสร้างช่องว่างให้กับพื้นที่ที่เสียไปในทศวรรษที่ผ่านมา อัตเน่ รีดเดอร์ (Utne Reader) นิตยสารทางเลือกเล่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึง “การปฏิวัติในห้องนั่งเล่น” ดัง ปาจารยสาร ฉบับหัวกะทิ ที่ผมเป็นบรรณาธิการอยู่ในเวลานั้น เอาความคิดนี้มาเล่นต่อ สาระสำคัญก็คือ เราควรจะลดความสำคัญของโทรทัศน์ลงไป โดยการกำจัดเวลาดู และย้ายออกไปจากใจกลางบ้าน คือ ห้องนั่งเล่น ให้กับการสนทนา และนอกจากจะสนทนากับสมาชิกในบ้านแล้ว ก็เชิญเพื่อนๆ เข้ามาสนทนาด้วย จัดกรอบโครงของเวลาใหม่ ให้มีเวลาสนทนายาวนานกว่าสามชั่วโมงขึ้นไป เวลาอุดมคติของโบห์ม คือ ๕ – ๖ ชั่วโมง ผมนึกถึงกลุ่มปัญญาชนอังกฤษอย่างบลูมส์เบอรี่ (Bloomsbury) ที่มี เวอร์จิเนีย วูลฟ์ (Virginia Woolf) ยอช เบอนาร์ด ชอร์ (George Bernard Shaw) เป็นต้น พวกเขาอยู่ด้วยกันทั้งบ่าย จนจรดดึกดื่น พูดคุยเดินเล่น ฯลฯ การก่อเกิด ภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา จึงเป็นไปได้
ปาจารยสาร หัวกะทิ อีกฉบับหนึ่ง คณะบรรณาธิการตัดสินใจร่วมกันจั่วหัวว่า “ความสุขไม่ต้องซื้อหา” เรามักหลงลืมไป และพากันไปยึดติดสื่อกันงอมแงม เพราะที่จริงแล้ว สื่อก็รายงานเรื่องราวของมนุษย์นั้นเอง และเรื่องราวของมนุษย์อาจนำมาบอกเล่ากันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อแต่อย่างใด ในทำนองเดียวกันนี้ ผมคิดถึงเรื่องที่หันเหมุมมองเรื่องหนึ่งโดยตั้งคำถามทักทายว่า แทนที่เราจะเขียนนิยายขึ้นมาจากเรื่องราวของผู้คน ทำไมเราจึงไม่คิดเล่าว่า แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตของเราเองก็คือนิยายที่ยิ่งใหญ่ และการดำรงชีวิตของเราอย่างเต็มเปี่ยม ก็คือการขีดเขียนนิยายดีๆ ออกมาเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องขีดเขียนบันทึกแต่อย่างไร
แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตของเราเองก็คือนิยายที่ยิ่งใหญ่ และการดำรงชีวิตของเราอย่างเต็มเปี่ยม ก็คือการขีดเขียนนิยายดีๆ ออกมาเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องขีดเขียนบันทึกแต่อย่างไร…
14
อีกประการหนึ่งที่สำคัญเพราะเป็นไวยากรณ์หลักของชีวิต คือ “ชีวิตคือการเรียนรู้” และเนื่องด้วยว่าชีวิตมีธรรมชาติเป็นเครือข่าย ชีวิตก็คือ “เครือข่ายแห่งการเรียนรู้” การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เริ่มจาการตั้งสมมติฐาน ลงมือปฏิบัติตามสมมติฐานนั้น และนำผลกลับมาพูดคุย กลั่นกรองประสบการณ์และหาความหมายกันในเครือข่าย ซึ่งมีการสนทนาเป็นกุญแจดอกสำคัญ
15

สมองด้านความเป็นมนุษย์ พระไพศาล วิสาโล


โดย พระไพศาล วิสาโลหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2552คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดในปีนี้ที่ได้รับทั้งคำชมและคำประณามมากเท่ากับ The Reader ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัลรวมทั้งตุ๊กตาทองสำหรับดารานำฝ่ายหญิง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนักวิชาการและนักเขียนมีชื่อหลายคนพากันโจมตีภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครฝ่ายหญิงคือ ฮันน่า ชมิตซ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ดูแลค่ายกักกันชาวยิวที่เมืองเอาชวิตซ์อันลือชื่อหนึ่งในบรรดาข้อกล่าวหาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ สร้างภาพของฮันน่าให้ดูดี ทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นใจกับชะตากรรมของเธอในตอนท้าย ทั้ง ๆ ที่เธอไม่เพียงมีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง หากยังมีส่วนทำให้นักโทษถึง ๓๐๐ คนถูกไฟคลอกตายในโบสถ์ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังชั่วคราว โดยเธอไม่ยอมช่วยเหลือคนเหล่านั้นแม้แต่จะเปิดประตูโบสถ์ให้ผู้ชมมารู้ภูมิหลังดังกล่าวของเธอเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปได้ครึ่งเรื่องแล้ว เมื่อเธอต้องขึ้นศาลหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วเกือบ ๒๐ ปี แต่ก่อนหน้านั้นผู้ชมรู้แต่ว่าเธอเป็นพนักงานเก็บเงินในรถราง ที่บังเอิญมารู้จักกับเด็กหนุ่มวัย ๑๕ แล้วภายหลังมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุมากกว่าถึง ๒๑ ปีภาพของฮันน่าตั้งแต่ต้นเรื่องคือผู้หญิงที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือเด็กแปลกหน้าที่ป่วยประหนึ่งพี่สาว (หรือแม่) ไม่มีวี่แววของคนใจร้ายหรือใจหิน แม้ว่าเธอจะมีความโกรธเกรี้ยวก้าวร้าวอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะความทุกข์บางอย่างที่เธอเก็บงำไว้ในใจการเสนอภาพของเธอไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไป ที่น่าเห็นใจ ทั้ง ๆ ที่เคยร่วมประกอบอาชญากรรมอันเลวร้ายในอดีต ทำให้หลายคนรับไม่ได้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ (รวมทั้งนวนิยายชื่อเดียวกันซึ่งโด่งดังมากว่าสิบปีแล้ว) ดูเหมือนว่าในสายตาของคนเหล่านั้น ฮันน่าควรมีภาพของ “ผู้ร้าย” ที่น่ารังเกียจตั้งแต่แรกเลยไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติกรรมของเธอเมื่อครั้งเป็นผู้คุมนักโทษชาวยิวนั้นเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นจะต้องเป็นยักษ์มารสถานเดียว คนเหล่านี้ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี แต่ความจริงอย่างนี้ยากที่ผู้คนจะยอมรับกันได้เมื่อใครสักคนทำสิ่งชั่วร้าย เรามักอดไม่ได้ที่จะวาดภาพคนนั้นว่าเป็นคนเลว หาความดีไม่ได้ หนักกว่านั้นคือไร้ความเป็นมนุษย์ ในทัศนะของคนเป็นอันมาก ความเป็นมนุษย์นั้นจำกัดไว้เฉพาะกับคนที่มีแต่ความดี แต่คนเช่นนั้นเราจะหาได้จากที่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะไม่มีใครที่ดีล้วน ๆ ถึงจะเป็นคนดีก็มีด้านที่ไม่ดีอยู่ เพราะมนุษย์นั้นมีความอ่อนแอ ที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อกิเลสอยู่เนือง ๆ กิเลสเหล่านี้เองที่ทำให้คนดีสามารถทำสิ่งไม่ดีอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึงกิเลสนั้นไม่ได้หมายถึงการโหยหาปรารถนาสิ่งเย้ายวน เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ หรือเพศรส เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความยึดติดในอุดมการณ์ ความเชื่อ หรือมาตรฐานความถูกต้องในแบบของตน จนหลงคิดไปว่า “กู” คือความถูกต้อง ใครที่คิดหรือทำไม่เหมือนกู ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี และเมื่อเป็นคนไม่ดีแล้วก็สมควรกำจัดออกไป มี “คนดี” ไม่น้อยที่ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบนี้ ผลก็คือกลายเป็นคนลุแก่อำนาจ หนักกว่านั้นก็เป็นเผด็จการและทรราชไปคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า เหมา เจ๋อ ตุง, พอลพต หรือ บิน ลาเดน จัดอยู่ในกลุ่มนี้ความจริงอย่างหนึ่งที่เรายอมรับได้ยากก็คือ คนที่สามารถออกคำสั่งให้สังหารคนเป็นแสนหรือเป็นล้านได้นั้น ไม่จำต้องเป็นคนใจคอวิปริตผิดมนุษย์ก็ได้ คนที่ “ปกติ” ก็สามารถทำได้ เมื่อ อดอล์ฟ ไอค์มานน์ ผู้รับผิดชอบแผนการสังหารชาวยิวถึง ๖ ล้านคน ได้รับการตรวจสภาพจิตหลังจากถูกจับได้ ผลการวินิจฉัยยืนยันว่าเขาเป็นคน “ปกติ” เหมือนคนทั่วไป ถึงแม้จะพูดไม่ได้ว่าเขาเป็นคนดีก็ตามในทำนองเดียวกันคงเกินเลยไปที่จะบอกว่าผู้บัญชาการค่ายกักกันชาวยิวเป็นคนดี แต่อย่างน้อยก็พูดได้ว่าคนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์และมีด้านดีหลายด้านไม่ต่างจากเรา รูดอล์ฟ เฮิสส์ ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิตส์ ได้ชื่อว่าเป็นคนรักครอบครัว ใจดีกับลูก ๆ และมีน้ำใจกับมิตรสหาย ส่วน ฟรานซ์ สตังเงล ผู้บัญชาการค่ายกักกันเทรบลิงกาก็เป็นคนสุภาพ พูดเสียงเบา ๆ ทั้งสองคนหาใช่คนโหดเหี้ยมไม่ เช่นเดียวกับ ไอค์มานน์ เฮิสส์ เคยเขียนในบันทึกส่วนตัวว่าเขาไม่รู้สึกเกลียดชังชาวยิวเป็นส่วนตัว แต่อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งคู่บัญชาการสังหารชาวยิวนับหมื่นนับแสนได้อย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน (เฮิสส์เคยกล่าวว่า “ถึงแม้ว่ากำลังทำภารกิจกำจัดชาวยิวอยู่ ผมก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ”) คำตอบก็คือ เพราะเขาเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง คนเหล่านี้ไม่เคยตั้งคำถามกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ใจจดจ่ออยู่กับการทำงานให้ดีที่สุดเมื่อใจจดจ่อเต็มที่อยู่กับงานการ อย่างอื่นก็ไม่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นชาวยิว อย่างเดียวที่เฮิสส์และสตังเงลสนใจก็คือ ทำอย่างไรจะกำจัดชาวยิวให้ได้มากที่สุดตามเวลาที่กำหนด ใจของเขาจะจดจ่ออยู่กับรายละเอียดเชิงเทคนิค เช่น ตารางเวลารถไฟที่ขนนักโทษมายังค่าย ขนาดและความจุของรถไฟ ชนิดของเตาและวิธีการรมแก๊สพิษ ฯลฯ ใจที่หมกมุ่นอยู่กับข้อมูลเหล่านี้ โดยมุ่งที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ย่อมไม่เหลือที่ว่างให้แก่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจนักโทษ ยิ่งเขาเก็บตัวอยู่แต่ในสำนักงาน ทำแต่งานบริหาร โดยไม่เคยไปรับรู้หรือเป็นประจักษ์พยานในการสังหารนักโทษเลย เสียงร่ำร้องของคนเหล่านั้นจึงแทบไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในมโนสำนึกของเขาเลย นักโทษเหล่านี้จึงเป็นแค่ตัวเลข หรือมีสถานะไม่ต่างจากวัตถุดิบในโรงงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้สตังเงลได้ชื่อว่า “ผู้บัญชาการที่ดีที่สุดในโปแลนด์”ใจที่มุ่งแต่ “งาน” จนมองไม่เห็น “คน” สามารถทำให้คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กลายเป็นคนที่ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะหากเขาอยู่ในอาณัติที่เราต้องจัดการให้ได้ นี้คือเหตุผลเดียวกับที่ฮันน่า ไม่ยอมเปิดประตูโบสถ์เพื่อให้นักโทษหนีไฟออกมา เธออธิบายต่อศาลอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอมีหน้าที่ต้องควบคุมคนเหล่านั้นให้ไปถึงที่หมาย หากเปิดประตูโบสถ์ นักโทษเหล่านั้นก็จะต้องหนีกระจัดพลัดพรายไปหมดฮันน่าไม่มีท่าทีรู้สึกผิดกับการกระทำเช่นนั้น เพราะเธอคิดว่าเธอพยายามทำหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุด (แต่กลับอับอายที่ตนเองเป็นคนไม่รู้หนังสือ จนยอมรับโทษหนักเพื่อปกปิดความจริงข้อนี้) ท่าทีอย่างนี้ย่อมทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะตัดสินว่าเธอเป็นคนใจหินโหดเหี้ยม ดังนั้นจึงรับไม่ได้ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะแสดงด้านดีของเธอออกมาให้ผู้ชมเห็นอกเห็นใจ แต่จะว่าไปแล้วนี้คือการเสนอภาพความเป็นจริงของปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งแม้จะทำความเลวร้ายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้เลวไปเสียหมด หากยังมีส่วนดีอีกมากมาย ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือความเป็นมนุษย์ที่มีในเราทุกคนผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมองอะไรเป็นขาว-ดำอย่างชัดเจน ใครที่เป็นคนดีก็ขาวหมด ส่วนคนชั่วก็ดำหมด แต่แท้จริงแล้วขาวกับดำ ดีกับชั่ว ก็ปะปนอยู่ในตัวคนเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความไม่ดีของใครบางคน แล้วเหมารวมว่าเขาเลวไปหมด เมื่อนั้นก็เป็นการง่ายที่เราจะเห็นเขาเป็นยักษ์มารหรือผีห่าซาตานที่สมควรขจัดออกไปจากโลกนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงแค่คิดเช่นนั้นเราก็กำลังจะกลายเป็นยักษ์มารไปแล้วที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกวันนี้เราไม่ได้เหมาว่าใครบางคนเป็นคนเลวเพียงเพราะเห็นความไม่ดีบางด้านของเขาเท่านั้น หากยังมีแนวโน้มที่จะมองว่าคนที่คิดต่างจากเราก็เป็นคนเลวไปด้วย ซึ่งหมายความต่อไปว่าคนเหล่านั้นสมควรถูกขจัดให้สิ้นซาก ใช่หรือไม่ว่านี้คือความคิดที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แม้จะคิดต่างกันในทางการเมือง ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นเพราะความยึดติดในความถูกต้องของตนอย่างเหนียวแน่น (ไม่ว่าทางศีลธรรมหรือทางการเมือง) จึงง่ายที่จะมองเห็นคนที่คิดหรือทำต่างจากตนเป็นคนเลวร้าย ชนิดที่หาความดีหรือความเป็นมนุษย์ไม่ได้เลย ดังนั้นจึงพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อขจัดคนเหล่านั้นออกไปจากวงสนทนา จากเวทีการเมือง จากเมืองไทย หรือจากโลกนี้ไปเลยอย่ายอมให้สีของเสื้อมาบดบังความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายก็มีหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ความเป็นคนไทย อยากให้บ้านเมืองมีสันติสุข รักสุขเกลียดทุกข์ มีพ่อแม่และคนรักที่ห่วงใย ฯลฯ จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ทั้ง ๒ ฝ่ายมีเหมือนกันนั้น มากกว่าสิ่งที่ต่างกันด้วยซ้ำ การเห็นแต่ความต่าง จนมองข้ามความเหมือน ทำให้เกิดการแบ่งเราแบ่งเขาอย่างชัดเจน และคิดแต่จะเอาชนะซึ่งกันและกันใจที่หมกมุ่นอยู่กับงานการ อาจทำให้มองไม่เห็นคนได้ ฉันใด ใจที่จดจ่ออยู่กับชัยชนะทางการเมือง ก็ทำให้มองเห็นคนเป็นเบี้ยได้ฉันนั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราถอดเสื้อสีและหัวโขน หันหน้ามาสนทนากันในฐานะบุคคล เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ง่ายขึ้น อันที่จริงแม้จะไม่ถอดหัวโขน เพียงแค่มีโอกาสมารู้จักกันตัวต่อตัว แทนที่จะเห็นหรือตอบโต้ผ่านสื่อ ก็สามารถลดอคติ และเห็นด้านดีของกันและกันได้มากขึ้น ยิ่งมีเวลาส่วนตัวอยู่ด้วยกัน หรือทำงานร่วมกัน ก็อาจกลายเป็นเพื่อนกันได้เมื่อนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับคนทำสัมปทานป่าไม้ในโอเรกอนและแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมาช้านาน มาร่วมกันปลูกต้นไม้ ปกป้องลำธาร ความเป็นมิตรก็เกิดขึ้น และสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้มากขึ้น ในปี ๒๕๓๔ ได้มีการนำเอาผู้นำคนผิวดำจากพรรคสภาแอฟริกันแห่งชาติ (ANC ซึ่งมี เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำ) กับผู้นำพรรคเนชั่นแนลลิสต์ของคนขาวในแอฟริกาใต้ มาสนทนากันในกระท่อมชนบทช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้จะมีความระแวงและเกลียดชังกันมาก่อน แต่ในชั่วไม่กี่วันทั้งสองก็เริ่มมีความไว้วางใจและเคารพกันมากขึ้น สัมพันธภาพดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเจรจาระหว่างรัฐบาลคนผิวขาวกับพรรคของคนผิวดำ จนกระทั่งมีการโอนถ่ายอำนาจให้คนดำอย่างสันติในที่สุดประสบการณ์ของหลายคนที่มีส่วนร่วมในการสานเสวนาระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติเหมือนกัน และไม่ได้เป็นคนเลวร้ายป่าเถื่อนอย่างที่วาดภาพเอาไว้ กิจกรรมดังกล่าวน่าที่จะทำอย่างต่อเนื่องและขยายวงให้กว้างขึ้น แม้คนที่เข้าร่วมได้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถส่งผลได้ยาวไกลเราคงไม่สามารถหวังว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจะหมดสิ้นไปในเร็ววัน เพราะความขัดแย้งของทั้ง ๒ ฝ่ายเชื่อมโยงกับความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคลี่คลายได้ แต่อย่างน้อยทั้ง ๒ ฝ่ายก็ควรไม่ควรทำความขัดแย้งทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร หรือระหว่างธรรมกับอธรรม อย่างน้อยก็ควรมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน อย่าทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายจนมองเห็นเขาเป็นตัวเลวร้ายหรือผีห่าซาตาน ขณะเดียวกันควรใจกว้างเมื่อผู้อื่นเห็นความเป็นมนุษย์หรือความดีของเขาแม้เรายังมองไม่เห็นก็ตาม เพราะนั่นอาจเป็นปัญหาของเรา มิใช่ปัญหาของเขาลองมองให้กว้าง ก็จะพบว่าคนที่สวมเสื้อคนละสีกับเรานั้น มีหลายอย่างที่เหมือนเรา และมีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ต่างจากเรา ลองมองให้ไกลก็จะพบว่า ในอดีตเรากับเขาก็เคยเป็นเพื่อนกัน หรือเดินบนเส้นทางเดียวกันมาก่อน และในอนาคตก็อาจร่วมเส้นทางเดียวกันอีก ใช่แต่เท่านั้น ลองมองให้ลึกก็จะพบว่า เขาก็มีความดีด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าเราเลยจริงอยู่เขาอาจทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องหรือเกินเลยไปบ้าง แต่ก็อย่าให้สิ่งนั้นปิดบังสายตาของเราจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ก่อนจะตัดสินเขา อย่างน้อยเราก็ควรถามตัวเองว่าแน่ใจแล้วหรือว่าเราเองก็ไม่ได้ทำเช่นเดียวกับเขาอย่าลืมว่ายิ่งเราเห็นผู้อื่นมีความเป็นมนุษย์น้อยลงเพียงใด ความโกรธเกลียดที่ตามมาจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยถอยลงเพียงนั้น

การเขียนตามทฤษฎีตัวยู

คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
เวลาที่เราพูดถึง "การเขียน" คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกเลยไปถึง "การเป็นนักเขียน" เลยทันที ทึกทักคิดเอาเองว่า "ต้องเป็นนักเขียนเท่านั้น" จึงจะสามารถเขียนได้ "การเขียน" ในความหมายของบทความชิ้นนี้ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้อง "เขียนแบบนักเขียน" เท่านั้น แต่ผมหมายถึงการลงมือเขียนจริง คุณจะถูกเรียกว่าเป็นนักเขียนหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
ผมเชื่อว่าใน พ.ศ.นี้ คนไทยที่ "เขียนไม่ได้" อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผมสังเกตว่าคนไทยจำนวนมากละเลยทักษะการเขียนไป จะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุใดก็ตามแต่
คนไทยใช้การเขียนน้อยเกินไปทั้งๆ ที่การเขียนก็ใช้แค่กระดาษเปล่าๆ ปากกาหรือดินสอสักด้ามเพียงเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมีโน้ตบุ๊กแบบพกพาหรือจะต้องเขียนด้วยการพิมพ์ลงไปในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ผมอยากจะเรียนว่า สิ่งที่ผมพบก็คือ "การเขียน" จะสามารถช่วยทำให้สมองทั้งสามชั้นของคุณสมดุลสอดประสานกันได้มากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คือ "สมองชั้นนอก-ได้คิด, สมองชั้นกลาง-ได้รู้สึก และสมองชั้นต้น-ได้ลงมือกระทำคือขีดเขียน"
ในระยะหลังๆ มานี้ ผมเริ่มนำ "การเขียน" เข้ามาใช้ในเวิร์กช็อปมากขึ้นกว่าเดิมคือให้ผู้เข้าร่วมเขียนทุกๆ วัน เราจะจัด "สมุดประจำตัว" ที่เราเรียกว่า "สมุดบันทึกการเดินทาง"(Journal of Journey) ให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนไว้ติดตัวตลอดระยะเวลาการทำเวิร์กช็อป
การเขียนก็เริ่มต้นจากง่ายๆ ครับ เป็นการเขียนที่ผู้เข้าร่วมทุกคนจะเขียนได้ ผมให้เวลาประมาณสองสามนาที ลองให้ทุกคนเขียน "สิ่งที่คุณกำลังรับรู้อยู่ในขณะนี้ว่ามีอะไรบ้าง?" ให้ทุกคนลองเขียนสิ่งที่แต่ละคนได้รับรู้ตามจริงของแต่ละคน ผมมักจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมลองบันทึกวันเวลาที่เขียนไว้ในสมุดประจำตัวด้วยในทฤษฎีตัวยูของออตโตชาร์มเมอร์ "การเขียน" ด้วยโจทย์ง่ายๆ ข้อนี้จะช่วยให้ผู้เขียนได้เริ่มขยับลงไปตามขาลงของตัวยู เป็นระดับที่สองคือ "เริ่มสังเกต" มองเห็นรับรู้และ "เปิดความคิด" ของตัวเขาเองเพราะคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในความเป็นอัตโนมัติแบบเดิมๆ ที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ทั่วๆ ไป ซึ่งตรงนี้เรียกว่าเป็นระดับที่หนึ่งของตัวยูหรือดาวน์โหลดดิ้ง ทำให้เราไม่ได้ "มองเห็น" สิ่งที่เป็นจริงภาพที่เป็นจริงหรือแม้แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงเสียทีเดียวนัก วันแรกๆ ผู้เข้าร่วมหลายๆ ท่านก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจแต่ผมก็มักจะยังไม่อธิบายอะไรมากมาย อยากให้ลองเรียนรู้ด้วยการสัมผัสจริงมากกว่า และการเรียนรู้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อเขา "ได้ลงมือทำจริง ได้เขียนจริง" ด้วยตัวของเขาเอง และผมมักจะให้ผู้เข้าร่วมทำซ้ำด้วยการเขียนสั้นๆ แบบนี้ด้วยโจทย์เดิม ในวันแรกสองถึงสามครั้ง ในช่วงก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละช่วงวันต่อๆ มาก็จะค่อยๆ เพิ่มคำถามเข้าไปอีกว่าเมื่อแต่ละท่านได้รับรู้แล้วว่าเห็นอะไรบ้าง หรือได้ยินอะไรบ้าง ให้ลองเขียน "ความรู้สึก" ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต่อสิ่งที่เห็นนั้นๆ ด้วยว่า "รู้สึกอย่างไร?" กำกับเข้าไปในบรรทัดของการเขียนด้วย ขั้นตอนนี้ก็จะค่อยๆ เป็นการนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ลงลึกไปสู่ระดับที่สามของทฤษฎียูคือ "การเปิดหัวใจ" คือคุณรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ได้รับรู้ ณ เวลานั้น ณ สถานที่นั้นๆและเมื่อ "การเขียน" ได้ดำเนินไปซ้ำๆ มากรอบขึ้นเรื่อยๆ ผู้เข้าร่วมก็จะค่อยๆ ลืมเรื่องการเป็นนักเขียนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาได้สัมผัสเองแล้วว่า "เขาเขียนได้" สิ่งที่เขียนไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็นเพียงการบันทึกการเดินทางด้านในของคุณ สิ่งที่คุณพานพบจริงๆ ณ เวลานั้นๆ และเมื่อโอกาสเวลาสถานที่บริบทเหมาะสม ผมก็จะ "โยนโจทย์" เพื่อช่วยนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ลงลึกลงไปสู่ "ระดับที่สี่" ของทฤษฎียูหรือ "ก้นตัวยู" ซึ่งก็คือ "ความหมายของชีวิต" โดยอาจจะเริ่มต้นจากการให้ทุกคนลองเขียน "เรื่องราวที่เคยภาคภูมิใจ" ในชีวิตของแต่ละคนมาอย่างน้อยยี่สิบข้อ จากนั้น ผมก็จะตั้งคำถามว่า "แล้วคุณจะสามารถทำอะไรได้อีกที่ทำให้คุณจะสามารถรู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตของคุณ" “คุณเป็นใคร?" และ "อะไรที่คุณอยากจะทำบ้าง?" อะไรประมาณนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า "การเขียน" ไม่ได้มีไว้เฉพาะกับผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนเท่านั้น ในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ แต่ "การเขียน" มีไว้เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาส "ตอกย้ำ" สิ่งที่พวกเขากำลังคิดกำลังรู้สึกให้เกิดความ "คมชัด" หนักแน่นมากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้มันฟุ้งลอยหายกลับไปในอากาศเสียก่อนต่างหาก ในเบื้องต้นผมยอมรับว่าผมไม่ค่อยแน่ใจในสมมติฐานนี้ เพราะผมเองก็เผลอไปเชื่อว่า "คนไทยไม่ชอบอ่านไม่ชอบเขียน" เหมือนกันแต่เมื่อได้ลองนำมาใช้จริงๆ ในเวิร์กช็อป
ผมพบว่า "การเขียน" ได้ช่วยทำให้ "กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" ของผู้คนนั้น เกิดความหนักแน่นมั่นคงมากขึ้นได้จริง การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นลงไปในสมุดบันทึกการเดินทางของพวกเขาแต่ละคนนั้นได้ช่วยทำให้สิ่งที่เขาคิดและรู้สึกนั้นเป็นรูปธรรมขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง การก่อเกิดเป็นตัวอักษรที่เกิดจากปลายปากกาของแต่ละคนในสภาวะที่พวกเขากำลัง "ดำรงอยู่" ในขณะนั้นได้ทำให้เกิด "เส้นทางใหม่" ที่ชัดเจนมากในสมองของแต่ละคนไม่มีอะไรที่จะทำให้ "ความคิดของคุณ" ชัดเจนหนักแน่นได้อย่างง่ายๆ และรวดเร็วที่สุดมากไปกว่า "การเขียน" ด้วย "มือของคุณเอง" แบบนี้อีกแล้วครับ

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทฤษฎีตัวยู : ถนัด ใบยา



การมองเห็นความงามของธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ มองเห็นความงามในตัวมนุษย์ เป็นการมองเห็นด้วยตาใน ด้วยจิตที่รับรู้ เป็นการพัฒนาศักยภาพข้างใน ให้มีสติรู้ตัวทุกขณะ
ปัญหาใหญ่ของสังคม คือการมองไม่เห็นความงาม เห็นแก่ตัว โลภ โกรธ หลง
หัวใจคือการทำให้สรรพสิ่งช้าลง สงบนิ่ง และเกิดปัญญาตื่นรู้ มองเห็นด้วยกัน ช่วยกันเห็น ช่วยกันตื่น เยียวยาแผ่นดิน
กระบวนการสร้างการตื่นรู้ เห็น ปฏิบัติ ไม่ทำซ้ำ “เรียนรู้”
๑. Reflection ครุ่นคิด พินิจนึก ใคร่ครวญ
๒. Inquiry สืบค้น ตั้งคำถาม พิศวง

Otto Scharmer



จากภาพ วงกลมที่ ๑ คือลักษณะของชีวิตเราตกอยู่ในกรงขังของความคิดแบบเดิมๆ (Downloading) ทำให้เราคิดแบบเดิมๆ และจัดกิจกรรมแบบเดิมๆ วนอยู่ในกรอบคิดแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา
วงกลมที่ ๒ เราพาตนเองออกมาแตะขอบวงกลม เริ่มมองเห็นอะไรที่มากกว่าในกรอบความคิดแบบเดิมๆ
วงกลมที่ ๓ เราพาตนเองแหวกกรอบวงล้อมความคิดและการกระทำแบบเดิมๆ มาสู่กระบวนการคิดใหม่ กระทำที่แตกต่างไปจากเดิม
วงกลมที่ ๔ เมื่อเราแหวกกรอบวงล้อมแบบเดิมๆ ทำให้เราสร้างจินตนาการและการกระทำที่ใหม่ หลุดจากวิถีทางแบบเดิมๆ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

วรรคทอง
“ศักยภาพมีอยู่ในตัวเอง สำคัญคือการวินัยในการฝึกฝน”

ทฤษฎีตัวยู
หัวใจคือการเดินทางภายในจิตของตนเอง


ปกติเรามักจะคิดแบบเดิม (Downding) แล้วนำไปสู่กระทำแบบเดิมๆ (Action) แต่ทฤษฎีตัวยู จะให้ช่วยให้เราเปิดดวงตาในการมองเห็นสภาวะที่เป็นจริงด้วยตนเอง เป็นการมองด้วยตาเนื้อและตาใน แล้วสร้างการรับรู้และเห็นร่วมกัน (Co-seeing) อันจะนำไปสู่การปรับวิธีการกระทำที่ใหม่แผกต่างไปจากเดิม (Redesign) หลังจากนั้นเราจะดำดิ่งลึกลงไปอีกเพื่อให้เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แห่งปัญหานั้นจริงๆ แล้วถามความรู้สึกจากใจที่แท้จริงของเรา (Co-sensing) อันจะนำไปสู่การปรับรื้อโครงสร้างทางสังคมขึ้นใหม่ หลังจากนั้นเราจะนำเอาประสบการณ์ในอดีตและสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบัน มาครุ่นคิดพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ่องแท้ด้วยตนเอง แล้วเปิดเผยสิ่งที่เราคิดออกไปให้คนอื่นๆ เห็นร่วมกัน (Open grandwill)เป็นการคิดใหม่ (Rethink) และจะนำเราไปสู่การตกผลึกความคิด (Co-cristalizing) และนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติการที่ใหม่ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีพลังชีวิตอย่างแท้จริง (Co-creation) จะเห็นได้ว่าทฤษฎีตัวยูจะทำให้เราช้าลง คิดใคร่ครวญร่วมกันหลายขั้นตอน

วรรคทอง
“ก่อนเปลี่ยนโลก เปลี่ยนตัวเองก่อน” คานธี

อุปสรรคสำคัญ ๔ ข้อในการเรียนรู้

หัวใจการเรียนรู้สำคัญคือ คิดแล้วทำ เห็นแล้วพูด แต่อุปสรรคของการเรียนรู้ คือ
๑. เห็นแต่ไม่รู้ – จำไม่ได้ (Recognize)
๒. ไม่พูดในสิ่งที่คิด
๓. ไม่ทำในสิ่งที่พูด
๔. ไม่เห็นว่าตนเองได้ทำอะไรไป

วรรคทอง
“อุปสรรคคือปุ๋ยที่ดีแห่งการตื่นรู้”

Tips
หัวใจของการสนทนาที่มีชีวิต (Dialogue)
๑. ผ่อนจังหวะชีวิตให้ช้าลง
๒. นำเอาประสบการณ์มาพูด
๓. พูดจากใจ มิใช่สมอง
วรรคทอง
“ตีกลองให้เหมือนน้ำผึ้งหยด” Playing like honey drop.

หลักการที่จะช่วยให้เรา Seeing together
๑. มีความตั้งใจและคำถามที่แจ่มชัด
การนิยาม Problem Statement ที่มีคุณภาพ คือจุด Start
๒. เข้าสู่บริบทที่มีความหมาย/สำคัญ
ไม่สังเกตอย่าง Passive แต่ประสบการณ์สดๆ
๓. ไม่ด่วนพิพากษาและเชื่อมสู่ความพิศวง
Capacity to wonder (ออกจากหล่ม)
๔. Dialogue คือการเห็นร่วมกัน
องค์กรชุมชนล่มสลายมักจะมาจาก not seeing and not facing กับสิ่งสำคัญๆ

หัวใจของนักรบ/โพธิสัตว์
๑. Compassion กรุณา
๒. Interconectedness เชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์


หลักการในการเข้าสู่ Co-sensing together
๑. เติมพลังให้ “สนามสนทนา”
เทศะ กาละ พื้นที่ระหว่างกัน เจตจำนง
๒. ดำดิ่งลงไป เอาตัวเรา ไปเป็นเขา
ประสบการณ์เต็มที่
๓. เปลี่ยนทิศทาง สนใจสิ่งที่อยู่ “ระหว่าง” ความแตกต่าง
๔. เปิดใจ มันจะเปลี่ยนเมื่อ “ใยเหล็ก” ฉีกขาด มีรอยแตก

Tips
Don’t hurry
AAR

วรรคทอง
“ความเชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ”

อินทรีย์ ๕ / พละ ๕ (การสร้างพลังแห่งนักรบ)
๑. ศรัทธา
๒. วิริยะ
๓. สติ
๔. สมาธิ
๕. ปัญญา

คำถาม
“เส้นทางชีวิต จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต มองย้อนกลับไป อะไรที่คุณค่าที่สุดในชีวิต แล้วข้างหน้าจะยึดอะไรเป็นเป้าหมายในชีวิต”

วรรคทอง
“ชีวิตที่ช้าลง ทำให้มองเห็นความงาม”

คำถามชีวิต
“เป้าหมายชีวิตจริงๆ คืออะไร เกิดมาทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร ความสุขคืออะไร งานที่นำเราไปสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้จริงคืออะไร ?”

Tips
อาวุธสำคัญ ๒ ประการ
๑. ความกรุณา
๒. เห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับผู้อื่น ธรรมชาติ
ทะไลลามะ


จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต

๑. จุดมุ่งหมายของชีวิตที่แท้จริงของตัวเราคืออะไร ?
๒. คุณค่าแห่งตนที่ยึดมั่นอยู่คืออะไร ?
๓. แล้วพรสวรรค์ที่เรามีคืออะไร ? (ความสามารถที่โลกต้องการเรา)

Tips
“ความสงบ ความช้า ความนุ่มนวล ความอ่อนโยน คือ พลัง”
“อย่ารีบเร่งเอาข้อสรุป หาเวลาให้ตัวเองบ้าง ใจ + ความสุข”

คำถาม
“ถ้าไม่มี อ.ชัยวัฒน์ เราจะจัดการระดมสมอง/สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบนี้อย่างไรให้พลังชีวิต”

คำถามทิ้งท้าย
๑. กิจกรรมที่เราคิดไว้ พวกเราจะมีเวลาพอ ? ใครจะเป็นจัดการ ? “How & Who ? ”
๒. ทำอย่างไร ? ให้การเรียนรู้มีพลัง (คุณภาพ พลังสะเทือน)
๓. จะเชื่อมโยงกันอย่างไร ? ให้เครือข่ายมีพลัง
๔. การเห็นคุณค่า แก่นแท้ และสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข

...........................................

“จงเบิกบานท่ามกลางการตื่นรู้ภายในใจตน”



สุข ดี เก่ง สร้างได้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวินหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มีนาคม 2552ปีที่ผ่านมา ผมโชคดีและมีความสุขมากที่ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหัวหน้าโครงการถึงสองโครงการ เพราะทั้งสองโครงการมีแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มีความสุขเป็นฐาน และเป็นเป้าหมาย มุ่งหวังให้คนในระบบการศึกษามีความสุข สร้างระบบการศึกษาที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Educare Systems) ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคมมีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” เป็นคนและสังคมที่มีคุณภาพแท้ (Authentic) ไม่ใช่คุณภาพเทียม (Artificial) หรือเสมือนจริง (Virtual)โครงการแรกเป็นการขับเคลื่อนเรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” สู่สถาบันอุดมศึกษา โดยได้เชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอบรมเชิงปฏิบัติการ ๕ ครั้งๆ ละ ๓ วัน ก่อให้เกิดชุมชนปฏิบัติ (Community of Practice) วิทยากรและกระบวนกรด้านจิตตปัญญาศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย อาจารย์จำนวนหนึ่งได้นำแนวคิด แนวปฏิบัติ และวิธีการที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอนและการทำงาน แล้วได้แจ้งให้ทราบด้วยความปีติที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทั้งต่อตนเอง ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ผมเองก็เป็นปลื้มและมีความสุขไปกับเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆโครงการที่สองเป็นโครงการวิจัยประเมินผลคุณภาพคนไทย: การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทย โครงการวิจัยประเมินคุณภาพคนไทย แบ่งการดำเนินงานออกเป็นสามระยะ ระยะแรกเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ระยะที่สองเป็นการวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือวัด/ประเมิน “สุข ดี เก่ง” และระยะที่สามจะเป็นการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยทั้งประเทศ และจำแนกตามตัวแปรอิสระต่างๆ เช่น อาชีพ อายุ ระดับการศึกษา...การวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ซึ่งเป็นระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับรายงานการวิจัยหลังจากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษาการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นนวัตกรรมทั้งในแง่ของแนวคิด ระเบียบวิธีวิจัย และการพัฒนาตัวชี้วัด ลักษณะพิเศษของการวิจัยครั้งนี้มีหลายประการเช่น
การใช้ความสุขเป็นฐานของการทำวิจัย (มีความสุขในการทำงาน)
การไม่ยึดติดอยู่กับระเบียบวิธีวิจัย หรือกรอบทฤษฎีการพัฒนาตัวชี้วัดหนึ่งใด แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และประสบการณ์ตรงระหว่างการทำวิจัยของทีมวิจัย (งานคือครู-เรียนรู้จากการทำงาน)
ไม่มีคำนิยามปฏิบัติการ (Operational Definition) สำหรับ ความสุข ความดี ความเก่ง แต่ใช้วิธีการพูดคุยแบบไม่ชี้นำ (Nondirective/Informal Interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ที่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนว่าเป็นคนที่มีความสุข ความดี ความเก่ง และขอให้ท่านแนะนำผู้มีความสุข ความดี ความเก่ง ตามที่ท่านรู้จักให้ผู้วิจัยเพื่อจะได้คัดเลือกและขอไปพูดคุยด้วยต่อๆ ไป
การพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ในลักษณะที่เป็นองค์รวม ไม่แยกเป็น “สุข” “ดี” “เก่ง” ออกจากกัน
แหล่งข้อมูลที่นำมาประกอบการวิเคราะห์/สังเคราะห์ความหมายและตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” มาจากการวิจัยเอกสาร การวิจัยภาคสนาม การประเมินและตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรึกษาหารือระหว่างทีมวิจัย
ผู้ให้ทุนทำวิจัยส่งคนในสำนักงานเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมกระบวนการวิจัยกับทีมวิจัย
ผู้ให้ทุนมีความ “ใจกว้าง” และ “กล้า” พอที่ให้ “ความไว้วางใจ” ผู้ทำวิจัยลองสร้างนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ครั้งนี้ ได้ตัวชี้วัด ๓ ชุด อันเนื่องมาจากวิธีการสังเคราะห์ที่แตกต่างกัน แต่ละชุดมีจำนวนตัวชี้วัดที่ไม่เท่ากันชุดแรกได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสาร (๙๙ ตัวชี้วัด) ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาในโครงการแรกที่จัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เหลือ ๒๒ ตัวชี้วัด) กับข้อมูลที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๗๓ ตัวชี้วัด) ผ่านการพิจารณาความซ้ำซ้อนของทีมวิจัย (เหลือ ๒๕ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดทั้งหมด ๑๑ ตัว นำตัวชี้วัด พร้อมคำนิยาม ๓ ระดับให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยทางการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะชุดที่สอง ได้จากข้อมูลภาคสนามเฉพาะที่ผู้ให้ข้อมูลหลักระบุว่า “สุข ดี เก่ง” เป็นลักษณะเดียวกัน รวมอยู่ในคนๆ เดียว เป็นตัวชี้วัด “รวม” ไม่แยกเป็นส่วนๆ มีตัวชี้วัดทั้งหมด ๒๕ ตัว ผ่านการพิจารณาทบทวนจากทีมวิจัยเหลือ ๒๓ ตัวชี้วัดชุดที่สาม ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยเอกสารที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ (๒๒ ตัวชี้วัด) กับตัวชี้วัด “ร่วม” (ตัวชี้วัดที่ปรากฏตรงกันในทุกมิติของตัวชี้วัด “สุข” “ดี” และ “เก่ง”) ที่ได้จากการวิจัยภาคสนาม (๑๖ ตัวชี้วัด) ผลการสังเคราะห์ได้ตัวชี้วัดร่วม ๖ ตัวชี้วัดเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) และตัวชี้วัดชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) พบว่าตัวชี้วัดทั้งหกตัวในชุดที่สามล้วนเป็นตัวชี้วัดที่ปรากฏในชุดที่สอง งานวิจัยนี้จึงนำเสนอผลการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัด “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะแรกนี้เป็น ๖ ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่ มีความเพียร รักในการเรียนรู้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ประนีประนอม มีอุดมการณ์ในชีวิต และ มีความพอเพียงตัวชี้วัดรวม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สอง (๒๓ ตัวชี้วัด) ถือเป็นนวัตกรรมทางความคิด/กระบวนทัศน์ทางการวิจัยและการพัฒนาตัวชี้วัด หากมีการพัฒนาวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลให้รอบคอบ รัดกุมขึ้น จะน่าสนใจมากทั้งในแง่ของวิชาการ และการนำไปใช้ตัวชี้วัดร่วม “สุข ดี เก่ง” ในชุดที่สาม (๖ ตัวชี้วัด) และเป็นผลการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดที่น่าสนใจ ในแง่ที่เป็นการวิจัยฐานราก (Grounded Research) ที่มีวัฒนธรรมเป็นฐานร่วม ในกรณีนี้จะสังเกตได้จากตัวชี้วัดทั้ง ๖ ตัว มีความเป็นไทยอยู่พอควร เช่น ความพอเพียง ความเพียร และประนีประนอมที่น่าสนใจมากในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการตีความ ความหมายของคำที่ผู้ให้ข้อมูลหลักใช้ และสถานการณ์/บริบทประกอบการอธิบาย หากตีความตามผู้ให้ข้อมูลหลักโดยตรง อาจจะมีความหมายแตกต่างหรือไม่ตรงกับที่นักวิชาการ (เฉพาะทาง) เข้าใจก็ได้ เมื่อนำผลการวิจัยมาให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาก็อาจจะตีความไม่ตรงกัน ในการเรียนการสอนด้านการวัดการประเมิน และการวิจัยเชิงคุณภาพ จึงควรต้องนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาด้วยประเด็นเรื่องตัวชี้วัดรวม ตัวชี้วัดร่วม และการตีความดังกล่าว น่าจะนำไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกได้ โดยผมและทีมวิจัยยินดีเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้ครับการวิจัยและพัฒนาในระยะที่สอง หากได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือหากมีหน่วยงานอื่นที่จะร่วมสนับสนุน ทีมวิจัยก็พร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมการสร้างเครื่องมือ/แบบวัดและประเมิน “สุข ดี เก่ง” เพื่อนำไปประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยในระยะที่สามต่อไปน่าสนใจไหมครับถ้าเราจะประกาศผลการประเมินสภาวะ “สุข ดี เก่ง” ของคนไทยเป็นประจำทุกปี ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือทุกๆ ๕ ปีควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต พระนักปราชญ์ไทยจากหนังสือ เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร ได้ให้แง่คิดว่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่สำคัญเท่าการสูญเสียคุณภาพของคน “เราจึงต้องกู้คนขึ้นมา แล้วคนนี่แหละจะมากู้เศรษฐกิจได้ แล้วจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง”ผมมีความสุขมากที่ได้มีโอกาสทำโครงการที่มีความมุ่งมั่นและเจตนาที่ดีทั้งสองโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอขอบคุณด้วยความจริงใจมา ณ ที่นี้ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทั้งสองโครงการที่ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ ผมได้เรียนรู้จากท่านทั้งหลายมากมายเหลือเกินผมเข้าใจอย่างชัดเจนแล้วว่า ที่ท่านพุทธทาสสอนว่า จงทำงานอย่างมีความสุข และ มีความสุขกับการทำงาน หมายถึงอะไร และผมเข้าใจชัดเจนแล้วว่าที่ท่านสอนว่า งานคือครู หมายถึงอะไรคุณครูทั้งหลาย อาจารย์ที่เคารพ พ่อแม่ที่รัก นักการเมืองที่นับถือ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอด นักกฎหมายชั้นเยี่ยม ศิลปินชั้นแนวหน้า...มาช่วยกันเป็นตัวแบบที่ดี ช่วยกันสร้างและพัฒนาคนไทยให้มีคุณลักษณะ “สุข ดี เก่ง” ร่วมกันนะครับ เพราะ “สุข ดี เก่ง” สร้างได้ครับก่อนจบขอฝากแง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า “ชาติจะมั่นคง สงบสุข อย่างยั่งยืนได้ด้วยสติและปัญญา การศึกษาจึงต้องพัฒนาคนให้มีสติและปัญญา เพื่อเป็นปัญญาชน”

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

รอยย่ำโบราณ บนเส้นทางแห่งอนาคต



โดย ณัฐฬส วังวิญญูหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มีนาคม 2552งานแจมโลก (World Jam) ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีหน้าเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่หมายมั่นชีวิตตัวเองกับการรับใช้สังคมจากมุมต่างๆ ของโลกได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มแรงบันดาลใจให้กันและกัน ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเมารี ชื่อว่า คีรีทาปู อาลัน เป็นสตรีชาวนิวซีแลนด์ วัย ๒๕ ปี เธอสืบเชื้อสายของคนเมารีและชาวผิวขาว และอยู่ในขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่พยายามรื้อฟื้นรากของความเป็นเมารีหรือชนเผ่าดั้งเดิมของนิวซีแลนด์ให้กลับมาสู่วิถีชีวิตเธอเล่าให้ฟังว่าหนทางชีวิตของเธอนั้นแปลก เพราะช่วงที่เป็นวัยรุ่น ความฝันของเธอคือการได้เป็นทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติ และปกป้องสังคมที่เธอรักจากภัยคุกคามภายนอก เหตุผลอีกอย่างที่มากไปกว่าอุดมคติที่ว่ามานี้ก็คือ เธอเป็นคนชอบใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงในฐานของร่างกาย เธอชอบวิ่งและออกกำลังกาย และจะมีอาชีพใดอีกเล่าที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าออกกำลังกายให้เธอ นอกจากการเป็นทหาร แต่แล้วโชคชะตาของคีรีก็ไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย เพราะเธอกลับต้องประสบอุบัติเหตุเข่าหลุดจากการเล่นรักบี้ ความฝันที่จะเป็นทหารของเธอจึงต้องเก็บพับไปเสีย และแม้ว่าเธอจะไม่ยอมแพ้ พยายามสมัครให้ได้รับการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ก็ต้องพบอุบัติเหตุอีกอย่างน่าเสียดายอย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ล้มเหลวทั้ง ๒ ครั้งอาจไม่ใช่เหตุบังเอิญในการตระเตรียมให้คีรีได้มาเดินทางบนเส้นทางที่เดินอยู่ในวันนี้ ในการที่เธอคอยปกป้องอธิปไตยทางจิตวิญญาณให้กับเผ่าพันธุ์ของตน เพราะก่อนหน้านั้นชีวิตวัยเด็กของเธอไม่ได้ราบเรียบ เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่เลิกทางกัน เธอต้องเติบโตมากับป้าที่สอนเธอให้รู้จักรากเหง้าและจิตวิญญาณของผู้หญิงเมารีที่เคารพท้องทะเลที่ศักดิ์สิทธิ์และแผ่นดินที่มีชีวิตจากการได้เรียนรู้กับยายและญาติพี่น้องของเธอเองมาโดยตลอด เมื่อเธอเติบโตและได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ทำให้เธอเริ่มตระหนักว่า แม้สังคมจะผ่านยุคสมัยของการเป็นเมืองขึ้นอาณานิคม (colonialism) มาแล้ว แต่ยังไม่พ้นการครอบงำในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการครอบงำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน กระแสทุนนิยมที่มาพร้อมกับบริโภคนิยม การกีดกันทางสีผิวที่ดูแนบเนียนมากขึ้น และตัวเลขของชนชายขอบหรือชนเผ่าพื้นเมืองโดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ที่ถูกกักขังในเรือนจำก็มีสัดส่วนมากที่สุดและยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวังวนของกระบวนการกีดกัน และความรุนแรงเชิงโครงสร้างเธอได้ตื่นขึ้นมาอุทิศชีวิตของตัวเองในการปลุกผู้คนให้ตื่นขึ้นมารับรู้และเรียกร้องสิทธิในการดำรงอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม และได้กลายเป็นนักรบปกป้องจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่คู่กับแผ่นดินมายาวนานผมได้มีโอกาสพาคีรีและเพื่อนที่มาด้วยกันขึ้นไปเยี่ยมชุมชนหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย คืนนั้นบรรดาเยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิง ได้มานั่งล้อมวงรอบแสงเทียนเพื่อรับฟังเรื่องราวของพี่สาวที่เป็นอาคันตุกะจากแดนไกล คีรีเริ่มต้นเล่าเรื่องของเธอด้วยการลุกขึ้นยืนแล้วร้องสวดเป็นภาษาเมารี สำเนียงดั้งเดิม โหยหวน เต็มไปด้วยความนอบน้อมและความรัก เพื่อสื่อสารกับจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้น เจ้าป่า เจ้าเขา ขวัญทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในโมงยามของรัตติกาล ทุกคนรวมทั้งผมถึงกับนั่งอึ้งกับการ “แสดงออก” ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเรียกว่า “การเป็น” หรือ “การดำรงอยู่” ของคีรี สำหรับเธอแล้วจักรวาลทั้งมวลมีชีวิต และพิธีกรรมร่ำร้องกล่าวสาส์นนี้ช่วยทำให้การสนทนาของเราเข้าสู่การเชื่อมต่อกับโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์และวิถีของบรรพชน ระหว่างพื้นภูมิสยามและตำนานเมารีนับตั้งแต่เธอได้มาร่วมงานและเรียนรู้กับ World Jam ที่รวมพลคนสร้างสรรค์สังคมรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน วิธีคิดในการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สังคมของเธอก็เปลี่ยนจากการต่อสู้และปะทะด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ภายในตัวเธอเอง และตระหนักถึงเสรีภาพที่บุคคลจะค้นพบได้ในตัวเอง เธอพบคุณค่าของทำงานด้านในไปพร้อมๆ กับการทำงานด้านนอก การเดินทางด้านในที่ค้นพบการไปถึงได้ในแต่ละขณะ การยอมรับและเป็นหนึ่งเดียวกับโลกอย่างที่เป็นก่อนแล้วจึงหล่อเลี้ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา การไม่พยายามเป็นผู้ “กระทำ” การเปลี่ยนแปลง (change agent) แต่เป็นผู้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ล้วนแต่มาจากประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นเก่าและใหม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนภายใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งปรากฏการณ์เมื่อมาเชื่อมโยงกับกระแสการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการกล่าวถึงกันมากขึ้นเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านใน ก็มีโจทย์ว่าทำอย่างไรจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) จะไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ที่สร้าง “ความสงบสุข” ให้กับผู้เรียน แต่ช่วยกระตุ้นแรงปรารถนาที่จะแบ่งปัน ช่วยเหลือ และรับใช้สังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การแบ่งแยกและความทุกข์ เพราะมิเช่นนั้น จิตตปัญญาศึกษาก็จะกลายพันธุ์ไปในทาง “นิวเอจ (New Age)” ที่หลุดลอยไปกับอิสรภาพ และการ “ค้นพบตัวเอง” อย่างไม่ผูกโยงกับทุกขสัจจ์ของยุคสมัย และโดยห่างไกลออกไปจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองได้ด้วยอย่างน่าเสียดายภาษา พิธีกรรม การแสดงออก หรือเครื่องแต่งกายที่เราสวมใส่ ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนหรือย้ำเตือนสิ่งที่เราเป็น รากเหง้าของเรา แม้ว่ากางเกงยีนส์อาจไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณชนเผ่าเสื่อมสลายลง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหลงใหลไปกับอารมณ์ความเป็นอื่น เมื่อนั้นเราก็หลุดลอยออกไปจากสิ่งจริงแท้ที่เราเป็นอยู่

การเปลี่ยนแปลงทางจิต สู่ชีวิตที่ไม่ยุ่งยาก: นพ.ประสาน ต่างใจ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2552มนุษย์ในสมัยหินคงมีความยุ่งยากในการดำรงชีวิตหรือความทุกข์น้อยกว่าเราในปัจจุบันมาก นั่น - ผู้เขียนคิดว่า เพราะความเจริญก้าวหน้า - ซึ่งคิดว่าเป็นความเสื่อมมากกว่า - ความทันสมัย เทคโนโลยีหรือแฟชั่น ฯลฯ พูดง่ายๆ คือความเจริญนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมนุษย์สมัยใหม่มีความยุ่งยากหรือความทุกข์หากเราเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกเรา เช่น โรเจอร์ สเปอรี หรือ จอห์น เอคเคิลส์ (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งคู่) ว่าเป็นจิตที่คุมกาย ทั้งจิตก็ไม่ใช่สมองและไม่ได้อยู่ในสมองแห่งเดียว ทุกวันนี้ แม้นักประสาทวิทยาศาสตร์เองอย่างน้อยหลายคนเชื่อว่า พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงของเราไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม (ใจหรือจิตใจ) ล้วนเป็นผลพวงการทำงานของจิตรู้หรือจิตสำนึกเป็นปฐม ซึ่งเป็นไปตามที่ศาสนาพุทธบอกเรามาเป็นพันๆ ปีแล้วว่า ชีวิตหรือสัตว์โลกนั้นประกอบด้วยรูปกับนามเท่านั้น โดยจะสอนว่า คำว่านามคือวิญญาณขันธ์ หรือตัวรู้ หรือจิตสำนึก หรือคือจิตที่ผ่านการบริหารโดยและที่สมองนั่นเอง สมองที่ทำให้จิตกลายเป็นนาม หรือการ ตื่น ของจิตเพื่อเป็นนามที่พร้อมจะรู้ผู้เขียนเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสมองไม่ใช่จิต - จิตเพียงเข้ามาอยู่ในสสารวัตถุหรือรูปกายของชีวิตทุกๆ ชีวิต แม้แต่ในสัตว์เซลล์เดียว - แต่สมองก็มีความจำเป็นที่สุดต่อวิวัฒนาการของจักรวาล โลก และชีวิต นั่นคือความสามารถในการบริหารจิตให้เป็นนามหรือตัวรู้ที่ ตื่น และพร้อมที่จะ รู้ ซึ่งมีแต่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของชีวิตได้สมบูรณ์ที่สุด คนไทยมักจะสับสนกันตรงเรื่องจิตซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก แถมเราทำให้มันยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยเอาภาษาอังกฤษกับนิยามของนักจิตวิทยาฝรั่งมาใช้โดยไม่อ่านพุทธศาสตร์ในเรื่องของจิตเสียก่อน แล้วค่อยไปอ่านหรือเชื่อ ฟรอยด์ แอดเลอร์ หรือนักจิตวิทยาตะวันตก เพราะพุทธองค์เป็นนักจิตวิทยาที่เหนือกว่าใครเป็นไหนๆ (Carl C. Jung Commentary in Evan-Wentz’s Bardo Thodol; 1927) เรางงเพราะใช้ภาษาอังกฤษสุดแต่จะใช้คำไหน (mind, mental, soul, spirit consciousness, etc. หรือแม้แต่คำว่า unconsciousness as consciousness) ทั้งๆ ที่ฐานความรู้ในเรื่องของจิตที่ใช้ๆ กันยังสับสนพอแรงอยู่แล้ว เราจึงใช้กันแทบจะมั่วไปหมด จนกระทั่งผู้อ่านสับสนหรือผู้ใช้บางทีก็สับสนเสียเองสำหรับผู้เขียนนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย คือจิตไร้สำนึกพื้นฐานของจักรวาล (cosmic consciousness ที่ คาร์ล จุง เรียก unconscious universal continuum) ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนมากรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่า คือจิตไร้สำนึกที่เป็นจิต (unconsciousness as consciousness) นั่นคือ “เต๋า” ใน เต๋าเต็กเก็ง หรือวิญญาณในพุทธศาสนาในอีกความหมายหนึ่งอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบทความ คือเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมอันเป็นพื้นฐานของวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือรู้แจ้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งเชื่อว่าการรู้แจ้งของปัจเจกนั้นจะนำไปสู่การ ตื่นรู้ ของสังคมโดยรวม (collective) ในภายหลัง ซึ่งทั้งสอง - ปัจเจกและโดยรวม - คือเป้าหมายและจุดหมายปลายทางของมนุษย์และสังคมที่สำคัญที่สุด ทำให้ผู้เขียนต้องมาเป็นคอลัมนิสต์และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ – เพื่อที่อาจจะ ช่วยหรือเสริมเติม - ให้ผู้อ่านบางคนนำมาคิดหรือเป็นผลทางอ้อมให้ผู้นั้นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงจนเกิดวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณได้จริงๆ แล้ว เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกที่ยิ่งใหญ่ หรือเรื่องของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติหรือจักรวาลทัศน์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนมาตั้งแต่เริ่มเขียนใหม่ๆ และมาตอกย้ำด้วยหนังสือที่ชื่อ บุพนิมิตกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเขียนลงในสื่อต่างๆ มาเมื่อสิบปีก่อนแล้ว โดยผู้เขียนได้ย้ำว่าหากทุกคนไม่เปลี่ยนจิตและพฤติกรรมของตนได้ทันกับเวลา เผ่าพันธุ์ของเราอาจจะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นเยี่ยงไดโนเสาร์ เพราะว่าผู้เขียนไม่เชื่อในเรื่องของความบังเอิญ ซึ่งไม่เคยมีและมีไม่ได้ ถ้าหากผู้ใดสังเกตให้ถ้วนถี่ถึงประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมและชีววิวัฒนาการของสัตว์จนกระทั่งเป็นมนุษย์ และจงอย่าลืมว่า จิตของมนุษย์ปัจจุบันนั้นได้ผ่านจิตตาวิวัฒนาการ (เช่นเดียวกับชีววิวัฒนาการแต่ช้ากว่า) จนแตกต่างกันกับจิตของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ หรือมนุษย์เดินตัวตรง (Homo erectus) อย่างมากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ดูจะเป็นประดุจประหนึ่งว่ามนุษย์เรามาอยู่ที่นี่เพราะจักรวาลต้องการเช่นนั้น (cosmologic anthropic principle) ดังที่นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยเลยเชื่อ รวมทั้งผู้เขียนเพราะว่าผู้เขียนคิดเป็นอย่างอื่นไม่ออกจริงๆถ้าเป็นเช่นนั้น นายบารัก โอบามา - หนุ่มผิวสีที่ชูนโยบายการเปลี่ยนแปลง (change) ที่ผู้เขียนเชื่อว่า เขาอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของประเทศและการเปลี่ยนแปลงทางจิตและพฤติกรรมของประชาชนอเมริกัน - ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเหนือคู่ต่อสู้อย่างถล่มทลาย - ซึ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่า โอบามาจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศรวมโลกได้ทันกับเวลาหรือไม่และอย่างไร อย่างลืมว่า ไม่ว่าจะมีผู้รักหรือรังเกียจสหรัฐอเมริกาสักเท่าไร ก็มิได้ทำให้การเป็นผู้นำโลกของสหรัฐต้องเปลี่ยนสถานภาพไป เพราะว่าสหรัฐคือผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองแต่เพียงประเทศเดียวโดยประเทศแทบไม่บอบช้ำเลย และที่ยิ่งไปกว่านั้น เป็นสหรัฐประเทศเดียวจริงๆ ที่ริเริ่มทำร้ายและทำลายระบบนิเวศโลกกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเจริญก้าวหน้า (ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความเสื่อมสลายหายนะของโลก) ด้วยเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกานุวัตรที่พ้องจองกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ถ้าหากเรามองจากวิวัฒนาการของจักรวาล ของโลก และของมนุษย์กับสังคม เราคงไม่สามารถที่จะมองข้ามหรือขจัดข้อสันนิษฐานของนักฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ (cosmological anthropic principle) ออกไปได้ทั้งหมด คือเป็นไปได้ที่จักรวาลซึ่งมาจากหนึ่ง (singularity) อาจสามารถรับรู้ความผันผวน หรือความฉิบหายที่เกิดขึ้นกับดาวนพเคราะห์โลกของเราที่อยู่ในจักรวาลเดียวกัน ความล่มสลายหายนะที่เกิดจากเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจเสรีอันมีอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม และตามด้วยกระแสโลกานุวัตรในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น ได้ส่งผลให้กระบวนการวิวัฒนาการกระทบกระเทือนไปทั่วจักรวาลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลของเศรษฐกิจหรือระบบสังคมการเมืองซึ่งกำลังเป็นปัญหาและวิกฤตของทุกประเทศในโลก โดยไร้ทางแก้ไขใดๆ ทางรูปร่างกายภาพหรือวัตถุ (physical) ให้กลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งสิ้น - ความเถลไถลเฉไฉผิดไปจากธรรมชาติอันเป็นความยุ่งยากทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นด้วยตัวเราเอง จึงตัวเราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้แก้ไขหนังสือขายดีมากๆ ของ ดเวน เอลยิ่น – นักจิตวิทยาที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีนักจิตวิทยาที่หันมานับถือจำนวนมากขึ้นรองจากนักฟิสิกส์ยุคใหม่ - ชื่อ การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายโดยสมัครใจ (Duain Elgin: Voluntary Simplicity, 1993) ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันสร้างวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ขบวนการมีชีวิตที่เรียบง่าย” ขึ้นมาขบวนการหนึ่ง อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้๑. ให้หาเพื่อนหรือหาเด็กๆ ในการใช้เวลาและพลังงานของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีพฤติกรรมที่เรียบง่ายด้วยตัวเองและร่วมกัน เช่น การเดิม การเล่นดนตรี เข้าค่าย หรือกินอาหารง่ายๆ ร่วมกัน๒. ในการทำอะไรในชีวิตประจำวันของตนเอง ทั้งทางกาย อารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณ ให้ทำด้วยความสงบและรู้ตัว๓. คิดถึงและอ่อนไหวต่อธรรมชาติของโลกเสมอๆ๔. รู้สึกเห็นใจและเต็มใจช่วยเหลือชาวโลกผู้ยากไร้หรือลำบาก๕. ขจัดและเปลี่ยนแปลงนิสัยในการหาและการมีอุปกรณ์ที่เป็นแฟชั่นและทันสมัยส่วนตัวลงไปให้มากที่สุด คงไว้เฉพาะที่จำเป็นทนทานและซ่อมง่าย๖. หลีกเลี่ยงอาหารฟุ่มเฟือยและไร้คุณค่า กินอาหาร “สุขภาพ” ที่เรียบง่ายและหาง่ายตามธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้๗. ลดและบริจาคเสื้อผ้า หนังสือ และของใช้ส่วนตัวให้เป็นนิสัย๘. หมุนเวียน ซ่อมแซม นำมาใช้ของเก่าที่ยังใช้ได้๙. ใช้สิ่งแวดล้อมแต่น้อยอย่างมีคุณค่า โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของมันเสมอ๑๐. เดินทางไปไหนๆ ใช้การขนส่งสาธารณะ จักรยานหรือเดินเอาและผู้เขียนขอเพิ่มอีกสองอัน คือ๑. ลดการดูทีวีและคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ประโยชน์ลงให้มากที่สุด๒. คบแต่บัณฑิต ไปวัดหรือสุเหร่าหรือโบสถ์ และรู้จักปฏิเสธเสียบ้างคิดว่า หากเราสามารถทำได้ทั้ง ๑๒ ข้อ เราอาจเรียกว่าเป็นคนที่ดำรงชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายได้ หรือท่านผู้อ่านท่านใดคิดออกต่อจากที่เขียนมาทั้งหมดก็ยิ่งดี ปัญหาอยู่ที่ “ความสมัครใจ” เพราะความเรียบง่ายหรือพฤติกรรมทั้งหลายแหละของมนุษย์เรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของจิต (รู้) ที่ควบคุมกาย วาจา และจิตใจ อย่าลืมว่า นักวิทยาศาสตร์ทางจิตส่วนหนึ่ง รวมทั้งในความหมายของผู้เขียนที่เขียนมาตลอดมา จะมองจิตใจ - ที่รวมการรับรู้ ความรู้สึก อารมณ์ ความคิดจินตนาการ และความจำอันเป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกซึ่งเป็นจิตที่ผ่านการบริหารที่สมองไปเรียบร้อยแล้ว - สำหรับผู้เขียนที่เขียนมาตลอดนั้น คำว่าจิตที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย จะเป็นจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น นั่นคือจิตที่อยู่ในทุกที่ว่างของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในสมองและบริหารพร้อมทั้งวิวัฒนาการที่และโดยสมอง

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

การสอนของ คาลิล ยิบราน


ในหนังสือ “ปรัชญาชีวิต” (The Prophet) ของคาลิล ยิบราน ครูคนหนึ่งร้องบอก “อัลมุสตาฟา” ว่า ได้โปรดกล่าวแก่เราถึง “การสอน” และท่านพูดว่า... ไม่มีมนุษย์ใด อาจเปิดเผยสิ่งใดแก่เธอได้ นอกจากสิ่งที่ได้นอนซบเซาอยู่ก่อนแล้ว ในขณะรุ่งอรุณแห่งปัญญาของเธอเอง ครูผู้เดินอยู่ภายใต้ร่มเงาโบสถ์ ในท่ามกลางสานุศิษย์มิได้ให้ปัญญาของท่าน แต่ให้ความเชื่อมั่นและให้ความรักแก่ศิษย์ ถ้าท่านเป็นปราชญ์อย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะไม่นำเธอก้าวล่วงเข้าสู่เคหาสน์แห่งปัญญาของท่าน แต่จะนำเธอไปสู่แทบธรณีแห่งดวงจิตของเธอเอง นักดาราศาสตร์ อาจกล่าวให้เธอฟังถึงความเข้าใจของเขาต่อท้องฟ้า แต่เขาก็ไม่อาจหยิบยกความเข้าใจอันนั้นแก่เธอได้ นักดนตรี อาจร้องทำนองเพลงทั้งหลายอันมีอยู่ในห้วงเวหาให้เธอฟัง แต่เขาก็ไม่อาจให้โสตอันสดับจับทำนอง หรือสำเนียงอันร้องสะท้อนรับทำนองนั้นแก่เธอได้... อัลมุสตาฟาสรุปว่า “เพราะว่าการเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้”

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552


โลกเปลี่ยนเพราะพวกเรา: เปลี่ยนโลก ... ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2549ถาม: ท่านทราบไหมว่าปี...๑) ๒๕๔๘ ๒) ๒๕๔๑๓) ๒๕๔๕ ๔) ๒๕๔๖๕) ๒๕๔๔ และ ๖) ๒๕๔๐มีความสำคัญอย่างไร ตามลำดับ?(มีเฉลยอยู่ในบทความครับ)สัปดาห์ นี้คอลัมน์จิตวิวัฒน์ได้เดินทางคู่กันกับหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ มาเป็นเวลาสองปีกับอีกสองเดือนพอดี แต่ละสัปดาห์สมาชิกจิตวิวัฒน์สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าความสำคัญ จำเป็นที่โลกจะต้องมี “จิตสำนึกใหม่” (New Consciousness)เรื่องราว ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากฐานความรู้และมุมมองต่อโลกของแต่ละท่านแล้ว ยังมาจากข้อมูลสาระจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มทั้งในและนอกที่ประชุม ความรู้ทั้งหมดที่กลุ่มให้ความสนใจ เล่าสู่ข้อมูลข่าวสาร และร่วมเรียนรู้กันนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างสิ้นไร้ข้อสงสัยว่า โลกกำลัง “อยู่ใน” วิกฤต หาใช่กำลัง “เข้าสู่” วิกฤตดังที่บางคนเข้าใจไม่ ทั้งยังเป็นวิกฤตในรอบด้าน ไม่ว่าทางสิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา และอื่นๆส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติและข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น มีดังต่อไปนี้ครับ
ใน รอบสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในเวลาไม่เกินห้าสิบปีนี้ ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป
ปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นถึง ๖ เมตร
โลกมีทั้งฤดูแล้งและพายุฝนรุนแรงมากยิ่งขึ้นเหตุการณ์ พายุเฮอริเคนแคทรีนา เป็นตัวอย่างที่ทุกท่านคงไม่ลืม ซึ่งแท้จริงแล้วปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึง ๒๘ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒๑ ลูกในปี ๒๔๗๖) ในจำนวนนี้เป็นพายุเฮอริเคนถึง ๑๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๑๒ ลูก ในปี ๒๕๑๒) และเป็นพายุเฮอริเคนระดับห้า อันความรุนแรงสูงสุด ถึง ๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒ ลูกในปี ๒๕๐๓)บาง ส่วนของข้อมูลนี้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และกำลังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ชื่อ An Inconvenient Truth (“ความจริงที่ทำใจลำบาก”) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของปัญหาภาวะโลกร้อนที่บางคน ไม่เคยทราบข้อมูลข้างต้นมาก่อน และจะต้องประหลาดใจยิ่งขึ้น หากพบว่าเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในสื่อ ต่างๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารสาระบันเทิงอันท่วมท้น บางทีการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อาจเหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมพูดจาเล่าเรื่องอย่างในสังคมไทย มากกว่าการอ่านเขียนก็เป็นได้สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บทให้สัมภาษณ์ของ อัล กอร์ เขาเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่สาวจากโรคมะเร็งปอด ด้วยความที่เธอเป็นนักสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ในขณะที่ครอบครัวก็มีอาชีพปลูกยาสูบ และไม่ได้คิดจะเลิกปลูก จนกระทั่งเธอตายจากไป กอร์บอกว่านี่คงเป็นลักษณะทั่วไปของมนุษย์กระมังที่ยากจะเลิกนิสัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ปลูกยาสูบ หรือแม้แต่การมีวิถีชีวิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้เรื่อง นี้ตรงกับที่อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ กล่าวในวงจิตวิวัฒน์เสมอๆ ว่า “มนุษย์นี้น่ะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บางทีเข้าไปนอนในโลงแล้วยังไม่รู้สึก ต้องได้ยินเสียงตอกตะปูฝาโลงปังๆ น่ะถึงจะคิดได้”อย่างไรก็ดี จิตวิวัฒน์หาได้เป็นผู้นำข่าวร้าย (ซึ่งที่จริงก็เป็นแค่ “ความจริง” เพียงแต่เป็นความจริงที่ “ทำใจลำบาก”) แต่ถ่ายเดียว จิตวิวัฒน์ยังพยายามสื่อสารบอกเล่าให้เห็นด้วยว่า นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ของตัวเราและของสังคม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีผู้หลุดพ้นจากการร่ำเรียนจาก “ความทุกข์” ที่อยู่เบื้องหน้ามานักต่อนักกลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่ามนุษย์จะใช้ ความคิด ความรู้ชุดเดิมๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดเดียวกันเป็นทำนองลิงแก้แหอย่างปัจจุบัน นี้ไม่ได้ ทว่าต้องมี “จิตสำนึกใหม่” อันเป็นจิตใหญ่ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้อธิบายไว้ในบทความจิตวิวัฒน์ชิ้นแรกในคอลัมน์นี้เมื่อสองปีก่อนว่า จิตสำนึกใหม่เป็น “ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด”หลัง จากที่กลุ่มจิตวิวัฒน์พบเจอกันเป็นประจำมาทุกเดือนไม่เว้น จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มจึงได้มีการ “เหลียวหลัง แลหน้า” กัน และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โลกต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าวิกฤตที่แท้นั้นเป็นวิกฤตภายในจิตใจของตน วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นดังที่ท่าน ดาไลลามะองค์ปัจจุบันบอกว่า “โลกเป็นโรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” ดังนั้นการพยายามไปหาทางออกด้วยวิธีการทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่ สามารถนำพาโลกไปสู่ทางออกได้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเมืองโดยการจัดการและวิทยาการอันเป็นบ่อเกิดปัญหาจึงเป็นการ แก้ไขที่เปลือกนอก สิ่งที่ควรเร่งฟื้นฟูขึ้นคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคนและ ด้วยเหตุที่วิกฤตเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากภายใน โดยคุณเดวิด สปิลเลน ได้สรุปโดยใช้คำของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “เปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” (Be the change you want to see in the world.)ที่ สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เห็นวิกฤต เห็นปัญหา ควรลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ ทันที โดยเริ่มจากตนเองก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ไปยึดติดกับความคาดหวังต่อผลอีกด้วยการทำโดยไม่ หวังผล ฟังดูเผินๆ อาจขัดกับแนวความคิดกระแสหลักที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะ “กรอบความคิด” การวัด-การประเมิน (ที่ “ตีกรอบ” ให้เราคิดแบบวนอยู่ในอ่างที่เดิม) ที่ทุกอย่างต้องตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดได้ โดยหารู้ไม่ว่า ชุดความคิดนี้เองคือที่มาของปัญหาต่างๆแท้ที่จริงแล้ว มนุษยชาติมีชุดความรู้ที่แตกต่างจากชุดความรู้ทางเทคนิคปัจจุบันและสามารถพา พวกเราไปรอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา (ที่สอนให้เราไม่คาดหวังผล อย่างเช่นกรณีผู้ปฏิบัติธรรม หากยิ่งคาดหวังจะบรรลุ กลับยิ่งไม่ประสบผล) หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ (ที่บอกว่าการวัดประเมินไปเสียทุกอย่างทุกครั้ง อาจไม่ได้ให้ผลที่เราอยากได้เสมอไป เช่น การทดลองเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์) หรืออีกหลายชุดความรู้ เพียงแต่คนยังไม่ตระหนัก ไม่เชื่อ ถึงคุณค่า ความหมาย และการนำไปใช้ของมันเท่านั้นสำหรับเฉลยคำถามข้างบนนี้ หกปีที่อยู่ในคำถามเป็นหกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่ เคยบันทึกกันมา (นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๓ หรือเมื่อกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบปีมาแล้ว) เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อเห็นข้อมูลว่าหกปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกมาอยู่ในรอบไม่เกินแปดปี ที่ผ่านมานี้ ในยุคสมัยของเรานี่เอง ... เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหรือเปล่า?

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ วิจักขณ์ พานิช

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ
โดย วิจักขณ์ พานิช หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547มี คำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ท้าทายของนักการศึกษาในวงการศึกษากระแสหลักและขณะ เดียวกันก็เป็นที่ดึงดูดใจต่อนักการศึกษาทางเลือกในโลกตะวันตก คือคำว่า Contemplative Education ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำที่มีความหมายกำกวม ตีความไปได้หลายทิศหลายทาง ถูกนำมารวมกันเพื่ออธิบายความคิดหนึ่งที่ฉีกออกไปจากความหมายเดิมๆ ของการศึกษาที่คนทั่วไปเข้าใจกัน...contemplative แปลเป็นไทยในการทึกทักเอาเองของผู้เขียนว่า “ที่ใคร่ครวญครุ่นคิดคำนึงด้วยใจโดยแยบคาย” พอตีความไปในทำนองนั้น ทำให้นึกถึงคำบาลีในพุทธศาสนาที่ว่า “โยนิโสมนสิการ” (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่ดูแล้วสองคำจากสองภาษาต่างให้ความหมายอันเดียวกันนั่นเองeducation เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี แปลเป็นไทยได้ว่า “การศึกษา” เราใช้คำว่าการศึกษากันจนลืมความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ไป การศึกษากลายเป็นภาพของรั้วโรงเรียน ห้องเรียน ครู นักเรียน เครื่องแบบ ปริญญา อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่เรารับเอาระบบการศึกษาจากทางตะวันตกมา ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาแบบนั้นจะพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการพาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ ทัดเทียมเท่าทันประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก แต่ในทางพุทธของเรา คำว่าศึกษาหรือสิกขาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กอปรด้วยความพร้อมพรั่งใน ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่แยกขาดออกจากกัน contemplative education จึงหมายถึง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำๆ นี้ มิใช่แสดงถึงรูปแบบของการศึกษา หรือ ระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ “กระบวนการ” คำๆ นี้เหมือนเป็นการจุดประกายความหมายใหม่ ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งทั้งชีวิต contemplative education สะท้อนให้เห็นกระบวนการ ความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ...นำไปสู่การตั้งคำถามอย่างถึงราก ต่อการศึกษาในระบบ ที่ได้จำกัดการเรียนรู้ให้แน่นิ่ง อยู่ในกรอบในขั้นตอน ที่ถูกจัดวางไว้แล้วอย่างตายตัวมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพของการเรียน รู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนบ้านนอก คนกรุง คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม คนทุกคนต่างมีธรรมชาติของจิตแบบเดียวกัน เป็นจิตใจที่สามารถเป็นอิสระจากภาพลวงตาของอัตตาตัวตน ก้าวพ้นสู่การสัมผัสความดี ความงาม และความจริง จนก่อให้เกิดความสุขสงบเย็นอย่างยั่งยืนภายใน ปัญหาของการศึกษาก็ คือ เรากลับไปเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง พยายามจะผลิตคนเก่งและคนฉลาด ขณะเดียวกันก็ได้ตีตราคนอีกกลุ่มว่าเป็นคนโง่ไม่เอาไหน เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งกันเป็นผู้ชนะ และเหยียบย่ำผู้แพ้ราวกับเขาไม่มีเลือดเนื้อจิตใจทางที่ถูก เราต้องไม่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ ทั้งนี้ลักษณะของการเชื่อมโยงหาได้เป็นการสร้างสะพานเชื่อมโดยที่ยังมองสามเรื่องแยกขาดออกจากกัน หาก เราเข้าใจและได้สัมผัสกับกระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ เพราะความรู้ที่แท้จริงนั้น คือประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ที่เราไม่เคยไป การอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจ เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าและความงามที่ทำให้จิตใจของเราขยายขึ้น เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากอัตตาตัวตนที่ลดลง กระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จึงนำไปสู่ความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่คนรอบข้างอย่างแท้จริงในขณะที่ กระบวนการเรียนรู้ในภาคความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา...เป็นความรู้ที่เกิดจาก ประสบการณ์และกระบวนการมากกว่าการท่องจำจากตำรา เมื่อความรู้ได้แตกยอดงอกงามขึ้นภายในใจจนถึงจุดหนึ่ง เสียงข้างในจะบอกเราให้เข้าใจถึงความหมายของการเรียนรู้ในภาควิชาชีพในแง่ มุมที่ต่างออกไป นั่นคือ...งานหรือการประกอบอาชีพ แท้จริงคือ ผลที่สุกงอมจากการเรียนรู้ เสียงข้างในที่ไม่ถูกทำให้พร่าเลือนด้วยอำนาจของอัตตาจะนำมาซึ่งความตั้งใจ ที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในด้านที่ตนถนัด เป็นการทำงานด้วยความสนุก ด้วยความรัก ด้วยความดีไปพร้อมๆ กัน เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งก็คือการผุดบังเกิดของความร่ำรวยทางความรู้ของจิตที่ขยายกว้าง การ เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสิ่งแวดล้อมที่สบาย สถาบันการศึกษาในปัจจุบันโดยมากกลายเป็นที่อบายมิใช่สบาย เพราะเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ เป็นที่บ่มเพาะอัตตา สภาวะความคับแคบของจิต สบายในที่นี้มาจาก สัปปายะ คือสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้จะเกิดได้ในสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้านใน ผู้คนรู้จักรดน้ำใจให้คนรอบข้าง ให้ความสำคัญและเอาใจใส่จิตใจของผู้เรียนรู้ในทุกขณะ การเอาใจใส่จิตใจในกระบวนการการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ๑. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ อย่างสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่เราฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้ง มั่น ในที่นี้ยังหมายถึงการรับรู้ในทางอื่นๆ ด้วย เช่น การมอง การอ่าน การสัมผัส ฯลฯ ๒. การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้ง กอปรกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในทางอื่นๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้ว มีการน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็นของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง๓. การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือการภาวนา คือการเฝ้าดูธรรมชาติที่แท้จริงของจิต นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความบีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง และสภาวะของการเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก เห็นความเป็นจริงที่พ้นไปจากอำนาจแห่งตัวตนของตน ที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียงการเห็นผิดไปของจิตเพียงเท่านั้น การ เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็นบาทฐานของการก่อกำเนิดความรู้ที่ถึงพร้อม นั่นคือปัญญา ที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง เห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่ง เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่จะทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ...เป็นการศึกษาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยสายตาแห่งความสดใหม่อยู่เสมอ ผลที่งอกงามภายในจะสุกงอมหอมหวาน ก่อเกิดผลเป็นการงานอันสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์อันกว้างขวางต่อสังคมและผู้คนรอบข้าง

พัฒนาครูที่จิต เพื่อศิษย์งอกงามในใจ : ศ.สุมน อมรวิวัฒน์


พัฒนาครูที่จิต เพื่อศิษย์งอกงามที่ใจ
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2550เมื่อ วันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พบกับเพื่อน ๓ คน ซึ่งเป็นแกนนำของสถาบันขวัญเมือง เชียงราย มีการทบทวนการทำงานและการเรียนรู้เรื่องพัฒนาจิตในประเด็น ๗ ขวบปีของสุนทรียสนทนาผู้เขียนฟังการพูดคุยด้วยความรู้สึกตื่นรู้และ เบิกบาน เป็นช่วงเวลาที่ปลุกให้ฉุกคิดว่าการฝึกฝนตนเองร่วมกับกัลยาณมิตรนั้น ทำให้ชีวิตสงบสุขและมีความหมาย ความคิดหนึ่งฉายวาบขึ้นมา ว่าตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา หลักสูตร วิธีการสอนและการฝึกอบรม เหตุใดจึงมิได้เกิดผลต่อผู้เรียนสมดังใจ มันมีกรอบทฤษฎีทางการศึกษามาครอบงำและกักขังจินตนาการของผู้เขียนหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าทำลายรั้วของความคุ้นชิน ออกไปสู่ความนอกคอกหรือว่า ความนอกคอกนั้นเป็นเรื่องผิดบาปอย่างยิ่ง?หรือ ว่า ความคิดของเราควรจะผสมกลมกลืนกันระหว่างพื้นฐานหลักการที่เป็นกรอบ กับการริเริ่มออกนอกกรอบ เพื่อแสวงหาปัญญาใหม่ที่ใช้ฐานความรู้และจินตนาการวง การแพทยศาสตร์ศึกษา กำลังเริ่มตื่นตัวปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์ครั้งใหม่ เพื่อสร้างและผลิตแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของระบบสาธารณสุขแห่งชาติ คือ Humanized Health Careผู้ เขียนคิดเชื่อมโยงมาสู่หลักสูตรฝึกหัดครู ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กรอบของหลักสูตรนั้นคงที่แน่นอนมาไม่น้อยกว่า ๕ ทศวรรษ ว่าต้องประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา คือ หมวดการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาการ หมวดวิชาชีพ และหมวดวิชาเลือกเสรี ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปนั้น ก็ยังมีสูตรว่าต้องครอบคลุมสาระทางมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ นอกจากนั้น การฝึกหัดครู ยังมีเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญอีก ๓ มาตรฐาน คือมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต กรอบและเกณฑ์เหล่านี้มุ่งไปสู่คุณภาพและสมรรถภาพทางวิชาการที่สามารถวัดและ ประเมินได้ ด้วยการทดสอบและแบบประเมิน ซึ่งจะคิดสรุปออกมาเป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่สิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ด้วยวิธีใดๆ ก็คือหลักสูตรการฝึกหัดครู (หรือจะเรียกว่า “การผลิตครู” ก็แล้วแต่) นั้นได้สร้างหัวใจของความเป็นครูมากน้อยเพียงใดกรอบและเกณฑ์ดัง กล่าว จะไม่สามารถครอบงำการพัฒนาหลักสูตรฝึกหัดครูได้ ถ้าผู้พัฒนาหลักสูตรก้าวพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ และก้าวออกมาสู่การออกแบบสาระและกระบวนการเรียนรู้ใหม่ก้าวพ้นออก จากวิธีการทาบกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีทางลัด เอาความรู้จากภายนอกมาทาบ และฉาบทาสมองของนิสิตนักศึกษา ให้เขาเติบโตตามกิ่งตอนที่เอามาทาบติด ดอกผลที่เกิดจึงไม่ใช่เนื้อในและสายพันธุ์ของตนเองคนทำสวนจะเปลี่ยน วิธีคิดได้หรือไม่ แสวงหาวิธีเพาะเมล็ดพันธุ์ให้นิสิตนักศึกษาได้รับการพัฒนาจากภายในตน ค้นหาจิตสำนึก ความรู้สึก ความสามารถ ความถนัดที่ตนเองมีมหาวิทยาลัย เปรียบดุจอุทยานแห่งปัญญา ที่คณาจารย์เป็นเสมือนคนทำสวน ที่จะเตรียมดิน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จัดแสงสว่าง รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้นิสิตนักศึกษา คือไม้ดอกอันงดงามได้เติบโตจากภายใน งอกงาม แตกกิ่งก้าน ผลิดอกสวยสดสมบูรณ์เป็นการพัฒนาเติบโตจากภายในตนของ นิสิตนักศึกษา ผลิบานออกมาผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ภายนอก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตนอย่างลึกซึ้งกว้างขวางกระบวนการ เรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู จึงมิใช่การถ่ายทอดทฤษฎี เนื้อหา และฝึกฝนประสบการณ์ที่จะไปถ่ายทอดบทเรียนให้แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่ง แต่จะต้องเริ่มกล่อมเกลาจิตใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ และการรู้จักผิดชอบชั่วดี ควบคู่กันไปตลอดหลักสูตรการศึกษานิสิตฝึกหัดครูใช้เวลามากเหลือเกิน ในการเรียนเนื้อหาวิชาที่เป็นตัวบท (text) แต่มีโอกาสน้อยในการที่จะได้ศึกษาบริบท (context) ซึ่งจะทำให้การเรียนมีสีสันและชีวิตชีวา นำไปสู่กระบวนการที่อาจารย์และศิษย์จะได้โต้ตอบ สนทนา ฝึกหัด ฝึกฝน แก้ปัญหาในกรณีศึกษาที่ต้องขบคิด เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมการถักทอเส้นใย ของความเมตตาในหัวใจครู คือการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสออกจากห้องบรรยายไปสร้างความสัมพันธ์กับเด็กและ ผู้คนทุกช่วงวัย หลายสถานภาพ
แต่งเรื่องสั้นๆ ไปอ่านให้เด็กๆ ฟัง
ทำจุลสาร แผ่นพับเล็กๆ ให้ความรู้ที่น่าสนใจ ส่งไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน
อ่านนิทานอัดเทปให้โรงเรียนคนตาบอด
เยี่ยมผู้ป่วยพักฟื้นและคนชรา
อาสาช่วยสอนตามความต้องการของโรงเรียนวันอาทิตย์
ช่วยงานในห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้
ฯลฯส่วน การพัฒนาความรู้คู่กับคุณธรรมและสุนทรียภาพ อาจใช้สูตรง่ายๆ คือ นิสิตมีเวลาเรียนอย่างผ่อนคลายทางด้านดนตรี ศิลปะ พละ และการพัฒนาจิต (MAPS : music, art, physical and spiritual development) ผู้ เขียนได้เคยทำนายไว้หลายปีก่อนแล้ว ว่านับวันการศึกษาจะไม่ใช่การเรียนหนังสือในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ก้าวออกไปสู่สังคมที่สับสนเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว ในขณะเดียวกัน นิสิตของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็จะต้องได้รับการกล่อมเกลาภายในจิตสำนึกและความตื่นรู้เท่าทัน เพื่อสามารถรับมือกับกระแสสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลาด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จึงไม่น่าจะเป็นการฝึกสอนในสถานศึกษาเท่านั้นผู้ เขียนได้ทำงานร่วมกับครูดีๆ จำนวนมาก ยืนยันได้ว่า การสอนที่ดีจริงของครูนั้น เกิดขึ้นจากจิตสำนึกและความตระหนักภายในตนของครูเอง วิธีการสอนที่ดีมากๆ ไม่เหมือนกับที่ครูเคยทำเมื่อเวลาฝึกสอน บรรยากาศ สื่อการสอน และส่วนประกอบต่างๆ เป็นความคิดและฝีมือของครูโดยแท้ครูสอนดี เพราะครูตั้งใจ และครูเข้าใจนักเรียนครูสอนดี เพราะมีกัลยาณมิตร และเป็นกัลยาณมิตรครูสอนดี เพราะครูมีศรัทธาต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ชีวิตของเด็กและครูเองมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ผู้ เขียนหวังที่จะให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฝึกหัดครู มีจิตใจที่อ่อนโยน ลดความเห็นแก่ตัว รักเมตตาลูกศิษย์ ถนอมและพัฒนาชีวิตอันอ่อนเยาว์ให้งอกงาม นี่คืออานิสงส์ที่เด็กและเยาวชนไทยจะได้รับจากครูขอจบบทความด้วยการแปลบทกวีของ กาเบรียล มิสตรัล กวีชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ดังนี้
เราสำนึกความผิดมามากครั้งความพลาดพลั้งพานพบมาหลายหนแต่บาปอันมหันตโทษของผู้คนคือทิ้งเด็กต้องผจญความเดียวดายอีกเมินผ่านธารทองของชีวิตทุกสิ่งสิทธิ์ปรารถนาวิญญาณ์หมายเราอาจคอยเวลาเฝ้าท้าทายแต่เด็กสายเกินนักจักรอไว้ทุกเวลาก่อร่างและเลือดเนื้อจิตสำนึกโอบเอื้อเพื่อเติบใหญ่สำหรับเด็กมิอาจรอ “วันต่อไป”ชื่อเด็กไซร้แม่นมั่นคือ “วันนี้”

ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์


ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2547เดวิด โบห์ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชั้นนำของโลก เขาเป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ และเติบโตในรัฐเพนซิลเวเนีย แต่ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๙๔ ชะตาชีวิตทำให้เขาต้องระหกระเหทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอาศัยต่างแดน โบห์มต้องอพยพจากสหรัฐอเมริกาเพราะถูกคุกคามเสรีภาพ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกเรียกตัวไปสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบกิจการที่ไม่เป็นอเมริกัน (Un-American Activities Committee) ในยุครัฐบาลขวาจัดของสหรัฐอเมริกาแต่ โบห์มก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ และอพยพหลบหนีไปอยู่ที่บราซิลระยะหนึ่ง จากนั้นจึงอพยพไปอิสราเอล และมาปักหลักค้นคว้าวิจัยอยู่ในอังกฤษจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ตลอดชีวิตการทำงานของโบห์ม เขาได้เสนอทฤษฎีสำคัญเกี่ยวกับควอนตั้มฟิสิกส์ไว้หลายประการ และเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ควอนตั้มฟิสิกส์อื่นๆ อีกหลายคน ที่มักพบกับปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาและไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลหรือสามัญ สำนึกปกติ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้โบห์มและนักวิทยาศาสตร์ ควอนตั้มฟิสิกส์อีกหลายคนหันมาสนใจศาสนาและปรัชญาตะวันออกสำหรับโบ ห์ม ได้รับอิทธิพลจากกฤษณะมูรตินักปราชญ์ชาวอินเดีย และได้ให้ความสนใจสมาธิภาวนาอย่างมาก เขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้สมบูรณ์ขึ้น วิทยาศาสตร์กับศิลปะที่เคยเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน นั้น จะผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวในที่สุดเพราะความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้ศาสตร์สาขาต่างๆ และศิลปะกลายเป็นคนละเรื่องแยกขาดออกจากกันสาเหตุ ที่นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์หันมาสนใจศาสตร์ตะวันออกเกี่ยวกับสมาธิภาวนาและการ ฝึกจิตมากขึ้นนั้น เป็นเพราะการทดลองและข้อค้นพบหลายอย่างในควอนตั้มฟิสิกส์ ได้ทำให้ความคิดวิทยาศาสตร์แบบเดิมเป็นปัญหา เช่นพบว่าสิ่งที่ถูกสังเกตในการทดลองเดิม ที่เคยยึดถือกันว่ามีคุณลักษณะคงที่แน่นอน กลับมีคุณลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามการสังเกตรับรู้ของมนุษย์หรือจาก เดิมที่เคยคิดว่า สสารและพลังงานเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเป็นสองสถานะที่แยก ขาดจากกัน วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า สิ่งที่สังเกตตรวจวัดในการทดลองนั้นมีความไม่แน่นอนและไม่แบ่งแยกเป็นอย่าง ใดอย่างหนึ่งอย่างเด็ดขาด ปรากฏการณ์เดียวกันนั้น บางขณะแสดงตัวเป็นอนุภาค แต่บางขณะกลับแสดงตัวเป็นคลื่นเรียกว่า ประเดี๋ยวเป็นสสาร ประเดี๋ยวกลับกลายเป็นพลังงาน ขึ้นอยู่กับการสังเกตตรวจวัด และเครื่องรับรู้จาก วิทยาศาสตร์แบบเดิมที่ถือว่า ความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต้องเกิดจากการแยกผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ออกจากกัน และความรู้ที่เป็นสากลจะต้องไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์นั้น วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างล้วนสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับการรับรู้อย่างแยกไม่ออกจะเรียกว่า สรรพสิ่งเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจิตรับรู้ก็ได้เมื่อ ความแน่นอนกลายเป็นไม่แน่นอน เพราะไปขึ้นกับการรับรู้ ความเป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนตายตัวและไม่ขึ้นกับจิต จึงกลายเป็นเรื่องที่สับสนอย่างยิ่งจนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้แต่โบห์ มต่างจากนักฟิสิกส์บางคนตรงที่เขาเชื่อว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนและสับสนนั้น แท้จริงมีกฎเกณฑ์หรือความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่ ซึ่งโบห์มเรียกว่า Implicate orderแต่การที่จะเข้าถึงความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่ นั้น จะต้องอาศัยภูมิจิตภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไปจากจิตคิดแบบวิทยาศาสตร์เดิม คือต้องเป็นจิตที่ผ่านการฝึกฝนมาดี และเป็นอิสระจากกรอบความคิด ภาษา และระบบสัญลักษณ์ ที่ได้กลายเป็นพันธนาการจองจำวิธีคิดของวิทยาศาสตร์แบบเดิมไปเสียแล้วใน แง่นี้ โบห์มให้ความว่า คณิตศาสตร์ก็เป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งด้วย และวิทยาศาสตร์เก่าได้ติดยึดกับคำอธิบายที่เป็นตัวเลขและแบบจำลองทาง คณิตศาสตร์มากเสียจนไม่สามารถรับรู้ความจริงแบบอื่นได้เรียกว่า ต้องทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขจึงจะคุยกันแบบวิทยาศาสตร์ได้โบ ห์มคิดว่า กรอบความคิด ภาษา และสัญญะ เหล่านั้นมีปัญหา และการที่จะก้าวพ้นจากอุปาทานการติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องฝึกให้รู้เท่าทันวิธีคิดและจิตรับรู้ของตนเองด้วยใน ระยะหลังนี้ เราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหันมาสนใจศาสตร์ทางจิตและศาสนาตะวันออกต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมีการจัดการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกับองค์ดาไล ลามะ แห่งธิเบตที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี ติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ แล้วนั้น ได้ทำให้เห็นได้ว่าศาสนาและภูมิปํญญาตะวันออกสามารถให้คำตอบเกี่ยวกับ ธรรมชาติของสรรพสิ่งได้อย่างน่าสนใจและลุ่มลึกยิ่งกว่าทัศนะแบบวัตถุนิยม กลไกของวิทยาศาสตร์เสียอีกวิทยาศาสตร์กำลังอภิวัฒน์ตัวเองอย่างช้าๆ ด้วยการเรียนรู้จากภูมิปัญญาตะวันออก แม้เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิทยาศาสตร์ใหม่จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนไปก็คือ ทัศนะของวิทยาศาสตร์เดิมที่ถือว่า ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นความรู้สากล ไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์ หรือเรียกว่าความรู้กับสภาวะแห่งการรู้นั้นแยกขาดจากกันได้ความรู้ แบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนรู้คนหนึ่งเอามาอธิบายให้อีกคนหนึ่งรู้ได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องภายนอกที่บอกเล่า เรียนรู้กันได้จากการคิด โดยไม่เกี่ยวกับพื้นภูมิของจิตแต่ภูมิปัญญาตะวันออกบอกว่า ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ที่แท้จริงนั้น มิอาจแยกจากกันและความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาวะแห่งการรู้นั้นคือปัญญาโบ ห์มเชื่อว่า การที่นักฟิสิกส์ต้องพบกับปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงแบบใหม่นี้ เป็นโอกาสดีที่จะเข้าถึงความรู้และสภาวะแห่งการรู้ใหม่ เพราะความจริงใหม่นี้จะท้าทายและรื้อเลาะอุปาทานที่เคยติดยึดอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ใหม่อาจเป็นหนทางหนึ่งของการเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงได้ เพราะการทำงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดและให้จิตเป็นอิสระจากอุปาทานนั้นแท้จริงก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

สังคมปรนัยกับการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่ :โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

สังคมปรนัยกับการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2551การศึกษาในระบบโรงเรียนกำเนิดขึ้นควบคู่กันกับระบบอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก เพราะเมื่อแรกเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมก็มีคนงานจำนวนมากที่ต้องมาทำงานในโรง งาน การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแตกต่างจากงานในภาคเกษตรกรรมเพราะคนงานต้องทำงาน เต็มเวลาและไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรหลานของคนงานเหล่า นั้นการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ว่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการเตรียมลูกหลานคนงานเหล่านี้ให้พร้อมที่จะไป ทำงานเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตเท่านั้น ระบบการจัดการโรงเรียนจึงไม่ต่างไปจากระบบการจัดการอุตสาหกรรมเด็กนักเรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม ถูกคัดเลือกด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่เหมือนๆ กัน แบ่งการเรียนเป็นชั้นๆ ตามอายุที่เท่าๆ กัน ผ่านการเรียนการสอนที่เหมือนๆ กัน เพื่อจบออกมามีคุณภาพมาตรฐานเหมือนๆ กัน การวัดผลเน้นไปที่ความแตกต่างในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ เช่น ทำข้อสอบได้คะแนนดีกว่าคนอื่นแต่ข้อสอบที่ทุกคนทำก็เป็นข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตรวจวัดในสิ่งๆ เดียวกันมากกว่าที่จะตรวจหาศักยภาพหรือความสามารถเฉพาะตัวและเพื่อให้การประเมินผลเชิงปริมาณเป็นไปได้อย่างเที่ยงตรงและรัดกุมยิ่งขึ้น ข้อสอบก็ต้องเป็นข้อสอบแบบปรนัยด้วยฐานความคิดที่สำคัญของข้อสอบปรนัยก็คือ ความจริงและสิ่งที่ถูกต้องนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คำตอบสุดท้ายนั้นมีคนรู้อยู่แล้ว นักเรียนหรือผู้สอบไม่มีส่วนในการกำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด และก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ด้วย และเพียงแค่จดจำให้ได้ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่มีอยู่ในตัวเลือกนั้นคืออะไรเลือกแล้วก็รอให้มีคนมาบอกว่า “ถูกต้องแล้วคร้าบ...”ระบบการศึกษาจึงไม่ต่างจากระบบอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตขนาดใหญ่ หรือ mass production โดยมีผู้สร้างความรู้จำนวนน้อย แต่มีผู้เสพหรือบริโภคความรู้เป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ถูกฝึกให้รอคอยที่จะบริโภคความรู้สำเร็จรูปมากกว่าที่จะมีส่วน ร่วมในการผลิตความรู้ และความรู้ที่เหมาะกับการบริโภคแบบ mass consumption จึงเป็นความรู้ฉาบฉวยที่ถูกทำให้ง่ายและบริโภคได้โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไร มากนักซึ่งก็คือความรู้แบบ how to สำเร็จรูปที่เราเห็นแพร่หลายอยู่กลาดเกลื่อนบนแผงหนังสือทั่วไปนั่นเองวิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้จึงสร้างวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องคิดอะไรมากเราอาจเรียกสังคมลักษณะนี้ว่าสังคมปรนัย คือเป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตเหมือนทำข้อสอบปรนัย ตัดสินใจผ่านตัวเลือกสำเร็จรูปที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บัตรเครดิต รวมไปถึงการงานและการใช้เวลาว่าง อย่างเช่น การใช้เวลาว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นแบบปรนัย ไม่ต้องใช้จินตนาการหรือความคิดอะไรมาก แค่เลือกระหว่างนอนอยู่บ้านดูทีวี หรือจะออกไปเดินห้างการเรียนการสอนแบบปรนัยจึงเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตซ้ำอุดมการณ์บริโภคนิยมในสังคมอุตสาหกรรม เพราะการเรียนแบบปรนัยสอนให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกโดยไม่ต้องมีส่วนร่วม กำหนด คำตอบที่ถูกหรือผิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วโดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมใน การคิด ตีความ หรือตัดสินอะไร เราเป็นเพียงคนเกาะรั้วดูอยู่นอกสนามแบบปรนัย (Objective) โดยไม่ได้ร่วมเล่นด้วยในสังคมปรนัย คนส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เป็นเพียงคนดู ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือการละเล่น งานต่างๆ มีผู้บริหารจำนวนน้อย คิดงานให้คนจำนวนมากทำไปวันๆ โดยคนส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ต้องคิดอะไรมากแม้แต่ในการละเล่นหรือสันทนาการ เราก็ไม่ต้องคิดและไม่ต้องลงมือทำ เราไม่ได้สนุกกับการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส หรือกอล์ฟ เราแค่สนุกกับการดูการแข่งขันก็พอ ไม่ว่าจะดูที่สนามหรือในทีวีที่มีคนเล่นเพียงไม่กี่คน แต่มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน กีฬามีไว้ดูมากกว่ามีไว้เล่น หรือเรื่องอาหาร เราก็ไม่ใช้เวลากับการปรุงอาหาร แต่เราจะมีความสุขกับการดูรายการอาหารในโทรทัศน์ เราไม่สนใจจัดบ้านของเรา (หรือเราอาจไม่มีบ้านอยู่) แต่เรามีความสุขกับการอ่านหนังสือบ้านและสวนมากกว่า เป็นต้นสังคมปรนัยจึงเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการเสพมากกว่าการสร้างลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราสังเกตได้โดยทั่วไป ถ้าเราเปรียบเทียบรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นอย่างเช่น ทีวีแชมเปี้ยน ซึ่งบ้านเราก็นำมาทำเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ เราจะเห็นว่ารายการทั้งสองแตกต่างกันอย่างสำคัญประการหนึ่งคือ รายการทีวีแชมเปี้ยนนั้น การแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นการประชันฝีมือในการสร้างหรือการผลิต เช่น แข่งขันทำอาหาร ตกแต่งต่อเติมบ้าน หรือประดิษย์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆส่วนรายการแฟนพันธุ์แท้นั้นส่วนมากเป็นการแข่งกันเพื่อดูว่าใครเสพหรือ บริโภคเก่งกว่ากัน เช่น รู้เรื่องดาราคนนี้ทุกอย่าง จำพระเครื่องหรือจตุคามได้ทุกรุ่น ร้องเพลง (ของคนอื่น) ได้ทุกเพลง จำรถจักรยานยนต์ได้ทุกรุ่น ดูหนังทุกเรื่องของดาราบางคน เป็นต้นรายการอย่างหลังนี้ ใครเสพมาก บริโภคมากเป็นผู้ชนะ และการตอบถูกก็ไม่ใช่ผลผลิตหรือผลงานการสร้างอะไรของคุณ แค่จำมาเท่านั้นเหมือนกับการสอบปรนัยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเป็นของเรา ไม่ต้องตีความ และอาจารย์ก็ไม่สนใจว่าสิ่งที่เรียนที่สอนนั้นมีคุณค่าหรือความหมายสำหรับ นักเรียนแต่ละคนอย่างไร เพราะการสอบปรนัยไม่ได้ประเมินว่าคุณมีความคิดเห็นหรือสร้างคำอธิบายของคุณ เองได้หรือไม่ สนใจแต่เพียงว่าคุณรู้หรือไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไรส่วนการสอบแบบอัตนัยนั้นก็ดูเหมือนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากระบบการเรียนการสอน แล้ว ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นการสอบอัตนัยแบบปรนัย คือเพียงแค่จำเนื้อหามาบอกหรือเขียนซ้ำโดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ตอบมีความคิด เห็นเป็นของตนเองหรือไม่เรียกว่าจำให้ได้แล้วเอามาเขียนซ้ำใหม่ (re-description) โดยไม่มีการครุ่นคิดตรึกตรองหรือกลั่นกรองเป็นความคิดอ่านหรือความเห็นของตน เองเหมือนกินอาหารแล้วสำรอกออกมาโดยไม่มีการย่อยข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ทำให้มีความพยายามที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวพ้นไปจากระบบอุตสาหกรรมความรู้ แนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ แนวคิดเรื่องการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่หรือ Transformative Learning ที่ได้รับอิทธพลจากนักคิดและนักปฏิบัติอย่างเช่น เปาโล แฟร์ (Paulo Freire), แจ็ค เมอซิโรว์ (Jack Mezirow) และนักจิตวิทยาอย่าง คาร์ล จุง (C. G. Jung)การเรียนรู้แบบปรนัยนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ล่วงหน้าแล้ว จึงเน้นการจดจำสาระข้อมูล หรือ Information และสอนให้คิดตาม ทำตามในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าถูกต้อง จึงเป็นการสร้างให้คนเชื่องเพื่อที่จะออกไปรับใช้ระบบมากกว่าที่จะไปเปลี่ยน แปลงระบบ หรือเรียกว่าเน้นที่ Conformationการเรียนเพียงเพื่อให้จดจำหรือมีข้อมูล (Information) จำนวนมากและให้คิดตามๆ กัน ทำตามที่ถูกกำหนดให้ทำ (Conformation) จะไม่สามารถนำไปสู่การค้นพบตนเองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง หรือ Transformation ได้การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของวิธีคิด และจิตสำนึก ที่ทำให้การใช้ชีวิตและการจัดความสัมพันธ์กับสังคมและโลกแวดล้อมไม่เป็นไป อย่างฉาบฉวยการเกิดขึ้นของทัศนะต่อชีวิตและจิตสำนึกใหม่ที่เข้าใจความจริงของโลกภายนอก และโลกแห่งชีวิตด้านในอย่างลุ่มลึกนี้ เป็นผลจากการมีประสบการณ์ตรงของผู้เรียนที่ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความ จริงของชีวิต (ไม่ใช่ยืนเกาะรั้วมองดูชีวิตอยู่ห่างๆ) ทั้งยังต้องมีการใคร่ครวญตรึกตรองอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตจนเกิดการประจักษ์แจ้งในใจตนเองถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต (ไม่ใช่จำมาจากสิ่งที่คนอื่นคิดไว้)นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมกระบวนการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่จึงไม่สามารถทำให้เป็นแบบปรนัยได้